กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส. เตรียมสินเชื่อกว่า 60 ล้านบาท เปิดรับจำนำเกลือ หวังช่วยชาวนาเกลือเมืองเพชรชะลอขายผลผลิตช่วงราคาตกต่ำ พร้อมเสริมมาตรการ ให้กู้สร้างหรือปรับปรุงยุ้งฉางเก็บผลผลิตเพื่อรอราคา
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) เปิดเผยว่าจากการที่เกษตรกรนาเกลือจังหวัดเพชรบุรีกำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากราคาผลผลิตตกต่ำ และรัฐบาลโดยมติของคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)ให้ ธ.ก.ส.เข้าไปช่วยสนับสนุนสินเชื่อในรูปของการรับจำนำผลผลิตและการลงทุนสร้างยุ้งฉางเพื่อเก็บผลผลิตและรอราคา ซึ่งการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวมีเกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรกรทำนาเกลือจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านแหลม อำเภอเมือง และอำเภอชะอำ แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 142 ราย วงเงินสินเชื่อจำนวน 63,300,000 บาท จำแนกเป็นสินเชื่อรอการขายผลิตผล จำนวน 142 ราย จำนวนเงิน 42,600,000 บาท คิดเป็นปริมาณเกลือที่รับจำนำประมาณ 40,000 ตัน และสินเชื่อเพื่อลงทุนสร้างและปรับปรุงยุ้งฉาง 69 ราย จำนวนเงิน 20,700,000 บาท
สำหรับเงื่อนไขการจ่ายสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว ธ.ก.ส. จะให้กู้รายละไม่เกิน 600,000 บาท แยกเป็นค่ารอการขายผลิตผลไม่เกิน 300,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 6 เดือน แต่ไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 และค่าลงทุนสร้างหรือปรับปรุงยุ้งฉางไม่เกิน 300,000 บาท กำหนดชำระคืนไม่เกิน 5 ปี แต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2558 อัตราดอกเบี้ย MRR หรือเท่ากับร้อยละ 6.75 ต่อปี ทั้งนี้ คชก.จะชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 8 เดือน ส่วนหลักประกันการกู้ให้ใช้เกลือในยุ้งฉางเป็นหลักประกันและให้สมาชิกในกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนเป็นลูกค้า ธ.ก.ส.ไม่น้อยกว่า 5 คน รับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การประเมินราคาเกลือทะเลที่ใช้จำนำเป็นหลักประกันคำนวณจากราคาของเกลือทะเลคุณภาพเกรดคละซึ่งซื้อขายกันในพื้นที่ ปัจจุบันอยู่ที่เกวียนละ 1,250 บาท โดยปล่อยกู้ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมิน หรือไม่เกินเกวียนละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ จังหวัดเพชรบุรีเป็นแหล่งผลิตเกลือทะเลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ มีพื้นที่การผลิตกว่า 36,000 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ทำนาเกลือทั้งสิ้น 63,300 ไร่ มีผลผลิตออกสู่ตลาดปีละประมาณ 400,000 เกวียน จากทั้งประเทศ 650,000 เกวียน โดยเกลือทะเลออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมากในช่วงฤดูแล้ง (มีนาคม — พฤษภาคม) ของทุกปี ทำให้ราคาตกต่ำ ดังนั้น การชะลอการขายเกลือโดยเก็บรักษาไว้ในยุ้งฉางเพื่อรอจำหน่ายเมื่อราคาเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาราคาตกต่ำให้กับเกษตรกรชาวนาเกลือได้