แกรมมี่ชูกลยุทธ์ไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้ง เน้น Customer Centric

ข่าวบันเทิง Wednesday January 31, 2007 14:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--แกรมมี่
เชื่อมั่นปี 50 ยังเติบโต รายได้ไม่ต่ำกว่า 6,500 ล้านบาท
แกรมมี่แถลงกลยุทธ์ปี 2550 เชื่อมั่นการตลาดแบบลูกค้าเป็นศูนย์กลางและเพลงคุณภาพ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ จะดันรายได้ทั้งกลุ่มไม่ต่ำกว่า 6,500 ล้าน
คอนเทนต์และทาเลนต์เบอร์หนึ่งดันแกรมมี่เติบโต
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ และจีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้กลุ่มแกรมมี่เชื่อว่าจะสามารถเติบโตได้สูงกว่าปี 49 คือไม่ต่ำกว่า 6,500 ล้านบาท แม้ว่าปีนี้หลายธุรกิจจะตั้งเป้าถดถอย 10-20% แต่เชื่อว่าธุรกิจเพลงจะสามารถเป็นตัวหลักในการสร้างรายได้กว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการบริหารอัลบั้มใหม่กว่า 200 อัลบั้ม คลังเพลงกว่า 17,000 เพลง และศิลปินกว่า 270 คน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งความแข็งแรงของคอนเทนต์และทาเลนต์ทั้งคุณภาพและปริมาณนี้จะกลายเป็นข้อได้เปรียบที่ไม่มีคู่แข่ง”
ไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้งด้วยกลยุทธ์ Customer Centric หรือลูกค้าเป็นศูนย์กลาง
นายไพบูลย์กล่าวว่า 2-3 ปีมานี้ไลฟ์สไตล์คนไทยเปลี่ยนไปมาก คนมีเวลาน้อยลง แต่มีทางเลือกล้นหลามทั้งช่องทางบริโภคและคอนเทนต์ คนแต่ละรุ่นไม่ว่าจะเป็น Baby Boomer (40-59 ปี) GenX (25-39 ปี) GenY (10-24 ปี) หรือ GenZ (ต่ำกว่า 9 ปี) ล้วนมีไลฟ์สไตล์เฉพาะตัว แกรมมี่จึงทำ CRM เพื่อเจาะ Consumer Insight Dept ซึ่งพบว่าวงจรชีวิตประจำวันทั้ง 3 ด้านคือ ที่ทำงานหรือสถานศึกษา ที่บ้าน และนอกบ้านนั้น ปัจจุบันเทคโนโลยีได้นำพาเพลงเข้าไปถึงหมดแล้ว
“เรียกได้ว่าเพลงเข้าถึงผู้บริโภคหรือลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงทั้ง 7 วัน เข้าได้ถึงทุกวัย ดนตรีไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่นอย่างที่สมัยก่อนพูดกัน แล้วลูกค้ายังสามารถเลือกคอนเทนต์จากหลากหลายแหล่งมาผสมผสานให้เหมาะกับตัวเองหรือ customize ได้อีกด้วย”
นายไพบูลย์เสริมต่อว่า คนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีจะบริโภคบันเทิงแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่ม เป้าหมายหลักของดิจิทัล คอนเทนต์ ส่วนผู้ไม่ถนัดเทคโนโลยีนิยมแบบออฟไลน์ ซึ่งก็สอดคล้องกับพฤติกรรม คนวัยทำงานที่ใช้เวลานอกบ้านมากขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มนี้กำลังซื้อสูง เป็นเป้าหมายหลักของกลุ่มซีดี วีซีดี โชว์บิซ ทั้งคอนเสิร์ท และทอล์กโชว์
“เราปรับการทำธุรกิจมาเป็นไลฟ์สไตล์ มาร์เก็ตติ้ง เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางหรือ Customer Centric แทนการใช้โปรดักส์เป็นหลัก มุ่งเจาะลูกค้าเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้นเรื่อยๆ ออกแบบและเพิ่มช่องทางเข้าถึงลูกค้าตามไลฟ์ สไตล์ ให้ลูกค้าเลือกได้ตามความพอใจ” นายไพบูลย์สรุป
4 คุณสมบัติเด่น Convenient-Customize-Friendly & Fair โดนใจคนยุคนี้
ด้วยกลยุทธ์ Customer Centric นายไพบูลย์เสริมว่า แกรมมี่ออกแบบสินค้าและบริการให้มี 4 คุณสมบัติเด่นคือ Convenient หาได้สะดวก Customize เลือกได้ตามความต้องการเฉพาะตัว Friendly ใช้ง่าย มีทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ และ Fair คือราคาสมเหตุผล
คลังเพลงและศิลปินที่มากและมีคุณภาพทำให้แกรมมี่ให้บริการได้ทุกวัย เข้าถึงทุกช่องทางทั้งสื่อฟรีแบบมวลชน คือวิทยุ โทรทัศน์ ซีดีและวีซีดีมีจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ซึ่งจะเพิ่มสาขาขึ้นอีกในปี 50 ดิจิทัล มิวสิกทั้งโมบายและอินเตอร์เน็ตก็มีโปรดักส์ Ikey รองรับ อีกทั้งมีโอเปอเรเตอร์หลายบริษัทเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย คือ AIS TRUE DTAC HUTCH และรวมถึง SAMART I-Mobile Nokia และ Samsung เป็นต้น หรือแม้แต่โชว์บิซก็มีมากกว่า 30 รายการ โดยมีพาร์ตเนอร์ เช่น ธนชาติ ธนาคารไทยพาณิชย์ โอสถสภา ยามาฮ่า และโตโยต้า เป็นต้น และโชว์ตามสถานเริงรมย์อีกมากกว่า 1,000 โชว์
เพิ่มรายได้จากดิจิทัล - รักษาระดับการขายซีดี การจัดโชว์บิซ และการบริหารศิลปิน
ที่มาของรายได้ธุรกิจเพลงปี 50 กว่า 3,000 ล้านบาท หรือประมาณ 50% ของรายได้กลุ่มแกรมมี่
มาจาก 5 กลุ่มธุรกิจหลัก
1. การจำหน่ายสินค้าซีดีและวีซีดีกว่า 1,600 ล้านบาท หรือ 53% ของรายได้รวมธุรกิจเพลง เชื่อว่าการ ถดถอยของกลุ่มนี้ใกล้อิ่มตัวและจะเป็นไปอย่างช้าๆ สอดคล้องกับกระแสโลกซึ่งลดลงประมาณ 5-6% ต่อปี และปัจจุบันก็มีเพียงแกรมมี่ที่เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้บริโภค จึงคาดว่ายอดจะสูงกว่าปี 49 เล็กน้อยจากอัลบั้มที่เพิ่มขึ้น
2. ดิจิทัล มิวสิก ตั้งเป้าประมาณ 500 ล้านบาท หรือ 15% ของรายได้รวมของเพลง โตกว่าปี 49 ประมาณ 30% โดยมาจากโมบายเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันช่องทางโมบายมีส่วนแบ่งมากกว่า 90% ของดิจิทัล มิวสิก เพื่อตอบสนองการใช้โทรศัพท์มือถือของคนไทยมากกว่า 33 ล้านเครื่อง และจากการดาวน์โหลดผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งยอดผู้ใช้สูงขึ้นถึง 7 ล้านกว่าคน และการใช้บรอดแบรนด์ที่ปี 49 เติบโตกว่าปี 48 ถึง 188% คือ 570,000 คน นอกจากนี้แกรมมี่ยังได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจรณรงค์ให้การดาวน์โหลดเพลงเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น เพื่อขยายตลาดดิจิทัล มิวสิกต่อไป
3. การบริหารศิลปินตั้งเป้ารายได้ประมาณ 380 ล้านหรือ 12% ของรายได้เพลงทั้งหมด โดยครอบคลุมธุรกิจการแสดงตามสถานบันเทิง การโชว์ตัวตามอีเวนต์ พรีเซ็นเตอร์ และดิจิทัล คอนเทนต์
4. โชว์บิซตั้งเป้าประมาณ 280 ล้านบาทหรือ 9% ของรายได้รวมของเพลง ซึ่งเป็นการรักษาระดับจำนวนโชว์ให้เท่ากับหรือมากกว่าปีที่แล้ว
5. การบริหารลิขสิทธิ์ตั้งเป้ามากกว่า 200 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 6% กลุ่มนี้มั่นคงและเติบโตต่อเนื่อง รายได้ส่วนใหญ่มาจากร้านอาหาร คาราโอเกะ สายการบิน โมเดิร์นเทรด ซึ่งปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากลิขสิทธิ์เพลงไทยในต่างประเทศด้วย
บริหารความเสี่ยงด้วยการลดต้นทุน คัดสรรอย่างแม่นยำ และมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจซึ่งเซ็นสัญญาแล้วเป็นรายได้กว่า 500 ล้านบาท
นายไพบูลย์เพิ่มเติมว่า แกรมมี่ได้เตรียมกลยุทธ์เชิงรับไว้ด้วย ด้วยการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิ-ภาพ ซึ่งได้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 49 แล้ว คือการลดต้นทุนของมาสเตอร์ เอกซเรย์สิ่งที่เป็นค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนแล้ว ดำเนินการ ปีก่อนแกรมมี่สามารถลดต้นทุนได้มากกว่า 100 ล้าน
“การวางแผนอัลบั้มปี 50 จะโฟกัสและจัดลำดับความสำคัญ แบ่งกลุ่มตามศักยภาพและเป้าหมาย เพื่อโปรโมตให้แม่นยำ ใช้มีเดียใหม่ๆนอกจากแมส มีเดีย เพื่อการบริหารงบอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
“การทำงานกับพาร์ตเนอร์ก็ยึดหลัก Customer Centric เช่นกัน คือไม่ใช่เป็นเพียงสปอนเซอร์ ทว่าร่วมกันอย่างลึกซึ้งในระดับกลยุทธ์ ทั้งลูกค้าซัปพอร์ตดิจิทัล คอนเทนต์ และลูกค้าที่ใช้มิวสิก มาร์เก็ตติ้งในรูปแบบของเพลงและศิลปิน ซึ่งเราได้มีการเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้วหลายรายมีมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท และยังสามารถสร้างโอกาสเพิ่มจากช่องทางนี้อีกหลายโครงการ โดยจะทยอยเปิดตัวตามลำดับ”
สุดท้ายนายไพบูลย์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า แผนงานของจีเอ็มเอ็ม มีเดียจะจัดแถลงอีกครั้ง เนื่องจากมีความซับซ้อนจึงต้องแยกกันชี้แจง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ