ทางเดินความคิด “จิตสำนึกใหม่” สู่สังคมแห่งความเข้าใจ

ข่าวทั่วไป Monday May 31, 2010 10:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพียงคนไทยคิดต่าง คิดไม่เหมือนกัน ความขัดแย้งทางความคิดได้ลุกลามกลายเป็นการก่อเหตุจลาจล เผาบ้านเผาเมือง สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศจนยากที่จะประเมินค่า แน่นอนว่า ถึงวันนี้ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะกล่าวโทษกันไปมา แต่สิ่งที่ควรทำต่อจากนี้ ไป คือ คนไทยต้องร่วมกันฟื้นฟู เยียวยาประเทศ ร่วมกันนำความสงบสุขกลับคืนสู่ภาวะปกติให้เร็วที่สุด หลังโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ผ่านไป มีคำถามอีกมากตามมา เราจะปฏิรูปประเทศไทย ร่วมกันสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ได้อย่างไร โดยเฉพาะการสร้าง “จิตสำนึกใหม่” (new consciousness) กลายโจทย์เร่งด่วนที่ท้าท้าย ผศ.ดร.จุมพล พูลภัทรชีวิน ประธานกรรมการวิจัย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล “แนวทางสร้างจิตสำนึกใหม่ สู่สังคมสันติสุข การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่เป็นการเปลี่ยนผ่านจากจิตสำนึกเก่าสู่จิตสำนึกใหม่ หรือจากจิตเล็กสู่จิตใหญ่ ต้องอาศัยความกล้าที่ยิ่งใหญ่ ในการเปลี่ยน ยอมรับว่า วิกฤตการณ์เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมของประเทศ และโดยเฉพาะ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ความคาดหวังของตนเองและประชาชนทั่วไป ทั้งในแง่ดีและร้าย (พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์)ยอมรับและเข้าใจอย่างมีสติว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะมันได้เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้วได้ มันยังมีผลกระทบตามมาอีกในปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคตในลักษณะหนึ่งใดเสมอขึ้นอยู่กับเรา (ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง)ว่าจะคิด จะทำอะไร อย่างไร ตั้งแต่ปัจจุบัน เพื่อให้เกิดผลที่พึงประสงค์ร่วมกันในอนาคต วันนี้สังคมไทยต้องคิดสร้างสิ่งที่พึงประสงค์ร่วมกันมากกว่าตามแก้สิ่งไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นและผ่านไปแล้ว , ร่วมกันแสวงหาทางเลือกที่เป็นไปได้และพึงประสงค์ที่ใหญ่กว่าผลประโยชน์ส่วนตน, ลงมือปฏิบัติร่วมกันตั้งแต่ปัจจุบันตามความถนัด และศักยภาพของแต่ละคน แต่ละกลุ่ม สุดท้ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับ และพัฒนา ความคิด ทางเลือก และการปฏิบัติร่วมกันไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกระบวนการนี้ ขอให้มีการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ไม่รีบด่วนสรุปตัดสิน มีสุนทรียสนทนาระหว่างกัน” ดร.สรยุทธ รัตนพจนารถ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ประสานงานโครงการจิตวิวัฒน์ “การสร้างจิตสำนึกใหม่หลังเกิดสถานการณ์รุนแรง เริ่มแรก คนจะต้องมองเห็นก่อนว่า สถานการณ์ของประเทศที่ล่วงเลยมาถึงขณะนี้ เกิดจากคนส่วนหนึ่งขาดสติ และยังมองโลกแบบขาวกับดำ ติดโลกทัศน์แบบเก่า โดยคนส่วนใหญ่มักบอกว่าเกิดจากปัญหาเป็นผลมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง กฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แท้จริงแล้ว หากทุกคนมีสติเป็นเครื่องมือพื้นฐาน ปัญหาของประเทศจะไม่ตกมาถึงจุดนี้ ดังนั้น หากเราจะมานั่งแก้ปัญหาเรื่องความยากจน เรื่องโครงสร้าง ควรที่ต้องส่งเสริมเรื่องการเจริญสติให้มากด้วย ทุกอย่างควรทำควบคู่กัน เพราะคนทุกคนมีทุกข์เสมอกัน แม้คนจนคนรวยก็มีทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น แม้กระทั่งตอนนี้ คนบางกลุ่มกำลังเฉลิมฉลองกับชัยชนะอะไรบางอย่าง แต่ลึกๆ ปัญหาไม่ได้หมดไป อาจจะโผล่มาอีก ซึ่งเราต้องจัดการแบบกระบวนทัศน์ว่า การมองโลกแบบเดิม แบบแยกส่วน ถูกผิด จะพาสังคมไทยไปต่อไม่ได้อีกแล้ว ที่ผ่านมาการต่อสู้ทางด้านความคิดการเมือง โดยมากจะคิดแบบการแพ้ชนะกันอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพียงอย่างเดียว ผู้ชนะกินเรียบ ผู้แพ้เสียหมด เมื่อเรียกร้องกันแบบแพ้ไม่ได้ แพ้ไม่กลับ ก็ย่อมเกิดการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง ยอมแม้กระทั่งละเลยความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม เรียกว่าเพื่อเป้าหมายแล้ววิธีการอะไรก็ได้ เพราะกลัวแพ้แล้วจะต้องกลับบ้านมือเปล่า เมื่อเดิมพันมันสูงมาก จะไปเรียกร้องให้แต่ละฝ่ายใช้สันติวิธี ให้เห็นความเป็นมนุษย์นั้น เขาไม่เห็นหรอก การเรียกร้องแบบปากบอก ออกแถลงการณ์กันปาวๆ จึงไม่ประสบผล เพราะมันชนกำแพงกระบวนทัศน์แบบเดิมๆ วิธีที่แก้ได้คือ จิตสำนึกใหม่ กระบวนใหม่ ที่ให้ทุกคนชนะด้วยกัน วันนี้เราต้องสร้างทางเลือกร่วมกัน ทำให้ทุกคนเป็นคนชนะร่วมกัน สร้างสังคมไปสู่โลกทัศน์ที่มีมิติมากขึ้น สร้างพื้นที่ให้ทุกคนมายืนอยู่ในคำตอบของปัญหา เพราะจะทำให้ทุกคนจะเชื่อว่า คำตอบทุกเรื่องมีตนเองอยู่ในนั้นด้วย ก็จะไม่มาต่อสู้กันรุนแรงขนาดนี้ ส่วนการรายงานข่าวของสื่อในปัจจุบัน ยุคเว็บ 2.0 สื่อมวลชนหากมาทำงานใกล้ชิดเรื่องจิตวิวัฒน์ สื่อก็มีความสุข มีการเจริญสติเป็นพื้นฐาน มีต้นทุนภายในที่เข้มแข็ง จะเปิดสู่ทางออกใหม่ๆได้ ยิ่งปัจจุบันที่มีเครื่องมือทรงพลัง แต่คนใช้ยังไร้สติทำให้เกิดปัญหา หากจะพัฒนาไปต่อได้ต้องพัฒนาจิตใจ เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการการเมืองปัจจุบัน รวมถึงวิกฤตโลก ซึ่งวิกฤตต่างๆ ไม่ใช่กำลังจะมา แต่ตอนนี้มาถึงแล้ว เปรียบได้เป็นน้ำจิ้ม ขณะนี้เราไม่ได้ต้องการเว็บหรือเทคโนโลยีที่ดีขึ้น หรือต้องการกฎกติกาที่มันวิเศษ เราต้องมีความสามารถในการกลับมารู้สึกตัว เพื่อสร้างทางออกที่ไปร่วมกันของคนทั้งสังคม ปัญหาทางการเมืองเป็นรูปธรรมการแสดงออก ปัญหาทางจิตวิญญาณมองไม่เห็น แต่ที่เราเห็น คือ ปัญหาที่เกิดขึ้น รากเหง้าจริงไม่ใช่การเมือง แต่เป็นเรื่องจิตใจของคนต้องเริ่มแก้ไข ประเทศไทยยังเห็นความหวังอยู่เยอะมาก คงต้องใช้คำว่า ประเทศมีโอกาสจะกลับมายิ้มได้เหมือนเดิม เพราะศักยภาพการเรียนรู้ของคนมันมีอยู่ และจะสามารถเป็นได้อย่างมหาศาล อาจจะรักกันได้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะที่ผ่านมาเรายิ้ม แต่ก็มีคนที่ยิ้มไม่ออกอยู่มาก หากเราปฏิรูปทางจิตสำนึกใหม่ได้ เราทุกคนจะกลับมายิ้มได้มากกว่าเดิม” “ต้องเร่งเอาเรื่องการเจริญสติ การภาวนาเข้าไปอยู่ในทุกมิติของชีวิต เจริญสติผ่านจิตอาสา เจริญสติผ่านการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องทางการเมือง ตัวอย่างเช่นการเคลื่อนไหวของคานธีนี่ก็ชัดเจน การเคลื่อนไหวทางเมืองด้วยสติไม่เพียงแต่จะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น ทุกคนที่อยู่ร่วมในกระบวนการยังมีความสุขมากขึ้นด้วย” นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี “แนวทางการสร้างจิตสำนึกใหม่สำหรับคนไทยเพื่อร่วมฟื้นฟูประเทศ เรื่องจิตสำนึกใหม่นั้นคงไม่สามารถบอกได้ว่า จะต้องให้คนไทยทำอย่างไร แบบไหน เพราะจิตสำนึกนั้นเกิดจากการได้กระทำ ร่วมกันกระทำ ร่วมเรียนรู้ผ่านกระบวนการฟื้นฟูร่วมกัน จนเกิดเป็นจิตสำนึกของคนร่วมกันขึ้น เวลานี้คนไทยควรยึดหลักธรรมหนึ่งเช่นเดียวกับที่พุทธทาสภิกขุเคยให้ธรรมะ ให้กับ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี คือ ควรมี 1. สุทธิ มีความจริงใจ บริสุทธิ์ใจแก่กัน 2. ปัญญา ต้องมีความรู้หลักการที่ถูกต้องและเหมาะสม 3. เมตตา ควรให้อภัยและปรองดองกัน และ 4. ขันติ ต้องรู้จักอดทน อดกลั้นต่อกัน ในการร่วมรับฟังกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน เวลานี้คนไทยก็ควรยึดธรรมนี้เช่นเดียวกันกับในอดีต หลังวิกฤตควรมองเป็นโอกาส ควรถือเป็นโอกาสสำคัญที่เราจะได้ร่วมทำ ร่วมคิด ร่วมปรับปรุง ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้ถ้าทำไปเรื่อยๆ ทุกคนได้ร่วมปฏิบัติร่วมกันก็จะทำให้เกิดจิตสำนึกที่เปลี่ยนแปลงไป จิตสำนึกจะเกิดจากการกระทำ ต่อจากนี้ ความสำคัญของกระบวนการต้องเป็นอยู่ที่ทุกภาคส่วน ทุกคนได้มีส่วนร่วม ไม่มีการแยกใครออกจากกระบวนการนี้ ต้องดึงและทำให้ทุกคน ไม่ว่าจะสีใดได้เข้ามาร่วมให้มากที่สุด เป็นกระบวนการแก้ความขัดแย้งบนสันติวิธี และกระบวนการนี้ต้องไม่คิดยึดติดเพียงเรื่องผิดหรือถูก เรื่องดีหรือเลว แม้ว่าส่วนของกระบวนการยุติธรรมเองก็ต้องดำเนินไป หากทางจิตใจนั้นเราทุกคนต้องอย่าถืออาฆาต มาดร้าย โกรธ เคียดแค้น พยาบาท ต้องให้อภัยกันเท่าที่จะทำได้ ให้ความรักและความเมตตาต่อกัน ไม่ใช่เพียงมาชี้หน้าด่ากันว่าใครถูก ใครผิดเท่านั้น” ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th
แท็ก เหตุจลาจล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ