กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
พลเรือเอก สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่ม ถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ บริเวณท่าเทียบเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๘ เวลา ๑๐.๐๐ น.
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประสูติเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๒๗๗ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระนามเดิมว่า สิน บิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง ต่อมา มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ (นายอากรบ่อนเบี้ย) มารดาชื่อ นกเอี้ยง เมื่อเติบใหญ่ได้รับราชการเป็นมหาดเล็ก มีหน้าที่ รายงานข้อราชการในกรมมหาดไทย และกรมวังศาลหลวง ทำให้ทรงมีความรู้ทางด้านกฎหมาย และระเบียบราชการ นอกเหนือจากความรู้ด้านการทหาร ภาษาจีน ญวน ขอม และวรรณคดี ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปชำระความที่หัวเมืองฝ่ายเหนือ ผลการปฏิบัติงานเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงทรงตั้งเป็นหลวงยกกระบัตร ช่วยราชการพระยาตาก และได้รับแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเมืองตาก และพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ตามลำดับ
พุทธศักราช ๒๓๑๐ ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ แก่พม่า พระยาวชิรปราการ ได้รวบรวมไพร่พล และกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ภายในเวลา ๗ เดือน ทรงประกาศอิสรภาพหลังจากที่รบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น และสถาปนากรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร เป็นเมืองหลวง และทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็น "พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช รามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์ มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน " หรือ " สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ " หรือ " พระเจ้าตากสิน " เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น และขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร ในรัชสมัยของพระองค์จึงมีการทำศึกสงครามทั้งภายในและภายนอกอยู่เกือบตลอดเวลา ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามเป็นส่วนใหญ่ พระองค์ก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม ด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม รวมทั้งการศึกษา และการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ ทรงโปรดให้มีการสร้างถนน ขุดคลอง
หลังจากครองราชย์ได้ประมาณ ๑๕ ปี ได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเหตุให้รัชสมัยของพระองค์ต้องสิ้นสุดลง สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ ขณะที่มีพระชนมายุได้ ๔๘ ปี ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และ ได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพมหานคร
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะได้ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ ๒๘ ธันวาคม ของทุกปี ซึ่ง ตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน" นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวายพระราชสมัญญานามว่า "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"
(ที่มา :http://www.navy.mi.th/navalmuseum/history/html/his_b11_taksin_thai.htm)--จบ--