ม.อ. ปลื้มนักศึกษาทันตแพทย์ผ่านประเมินความรู้พรีคลินิก 98%

ข่าวทั่วไป Monday May 31, 2010 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. พอใจผลงานนักศึกษา หลังผ่านสอบประเมินความรู้ระดับพรีคลินิกได้ถึง 98% เผยปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จ อยู่ที่การเรียนการสอนอย่างเข้มข้น ด้วยการจำกัดจำนวนนักศึกษาเพียงแค่ 60 คน และสอนโดยคณาจารย์วุฒิปริญญาเอกมากกว่า 60% อีกทั้งยังมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ห้องผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ ระบุเตรียมก้าวสู่การเป็นสถาบันระดับนานาชาติ ด้วยการจัดสถานวิจัยและหน่วยวิจัย พร้อมเปิดรับนักศึกษาปริญญาโทจากต่างประเทศ ล่าสุดร่วมมือภูฏานมอบทุนเรียน รองศาสตราจารย์ ทพ.วิลาศ สัตยสัณห์สกุล คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ในการสอบเพื่อประเมินความรู้เพื่อขึ้นทะเบียนใบประกอบวิชาชีพทันตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน (ระดับพรีคลินิก) ของทันตแพทยสภา ซึ่งได้ประกาศผลในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏว่า นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. ซึ่งเข้าสอบจำนวนทั้งสิ้น 60 คน สามารถสอบผ่านในหมวดที่ 1 และ 2 คือ หมวดกายวิภาคศาสตร์ ชีวเคมีและสรีรวิทยา ทั้ง 60 คน ส่วนหมวดจุลชีววิทยาและวิทยาการภูมิคุ้มกัน สามารถสอบผ่านได้ 59 คน ซึ่งคิดเป็นผู้สอบผ่านเฉลี่ย 98.38% ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จนี้ ขึ้นอยู่กับหลายส่วน เช่น ความขยันหมั่นเพียรของนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะพักในมหาวิทยาลัย จึงมีเวลาในการแสวงหาความรู้มากขึ้น รวมถึงการที่คณะมีระบบที่เอื้อกับการศึกษาด้วยตนเองด้วยการใช้ E-learning ทำให้สามารถสืบค้นบทเรียนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น และ ความสามารถทางด้านการสอนของคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ในการที่จะสอนระดับพรีคลีนิคให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถจนผ่านการสอบใบประกอบวิชาชีพในระดับที่ดี คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าวว่า ปกติทางคณะจะรับนักศึกษาปีละประมาณ 60 คน ซึ่งนับว่าน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับคณะทันตแพทยศาสตร์ในส่วนกลาง ขณะที่คณาจารย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งมีวุฒิระดับปริญญาเอกกว่า 60% ทำให้การเรียนการสอนมีความเข้มข้น นอกจากนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ม.อ. ยังมีความเข้มแข็งในเรื่องของศัลยกรรม ในระดับ 1ใน 3 ของประเทศ มีห้องผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ ศัลยแพทย์ที่มีความสามารถ รวมทั้งยังมีความใกล้ชิดกับชุมชน และเข้ามีบทบาทเมื่อท้องถิ่นเกิดปัญหา เช่น ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการให้โควต้าเพื่อเข้าศึกษาในคณะแก่นักเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อจะได้กลับไปทำงานในท้องถิ่น หรือในพื้นที่ที่เคยประสบภัยพิบัติสึนามิ ก็ได้มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับมูลนิธิชัยพัฒนา ในการให้โควต้านักเรียนเข้าศึกษาเช่นกัน โดยเมื่อจบการศึกษาไปแล้ว จะต้องไปใช้ทุนอยู่ในพื้นที่ นอกจากนั้น คณะยังก้าวเข้าสู่สถาบันการศึกษาระดับนานาชาติ โดยอยู่ระหว่างการจัดตั้ง “สถานวิจัย” 2 แห่ง ได้แก่ สถานวิจัยวิศวกรรมเนื้อเยื่อแข็งเพื่อกะโหลกศีรษะ ใบหน้า ขากรรไกร และ สถานวิจัยโรคที่พบบ่อยในช่องปากและวิทยาการระบาด รวมถึง “หน่วยวิจัย” อีก 1 แห่ง คือ หน่วยวิจัยสเต็มเซล ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา มีงานวิจัยและทุนวิจัยที่เพิ่มขึ้น โดยนอกจากนักศึกษาไทยแล้ว ที่ผ่านมาได้มีนักศึกษาระดับปริญญาโทจากนานาชาติเข้าศึกษา เช่น จากประเทศจีน เยเมน อิหร่าน มาเลเซีย ลาว และ พม่า ส่วนเวียดนามกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดส่งนักศึกษา “เรากำลังให้ความช่วยเหลือประเทศภูฏาน ซึ่งไม่มีคณะทันตแพทย์ โดยเมื่อครั้งพระราชชนนีแห่งภูฏานเสด็จมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการพิจารณาเรื่องความช่วยเหลือในด้านวิชาการด้านสาธารณสุข ซึ่งจากการหารือระหว่างคณะพยาบาลศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า คณะทันตแพทยศาสตร์จะให้ทุนสำหรับนักเรียนภูฏานเข้าศึกษาระดับปริญญาตรี จำนวน 1 คน โดยเริ่มในปีการศึกษา 2553 โดยจะให้ศึกษาภาษาไทยก่อนเป็นเวลา 1 ปี ก่อนจะเข้าศึกษาหลักสูตรทันตแพทย์ อีก 6 ปี” คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. กล่าว เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 e-mail address : c_mastermind@hotmail.com เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com
แท็ก ผ่าตัด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ