นิทรรศการผลงานวาดเส้นร่วมสมัยออสเตรเลีย

ข่าวทั่วไป Monday May 31, 2010 11:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--สถานทูตออสเตรเลีย คุณผ่านเข้ามาในปัจจุบันที่มีรอยอดีตฝังอยู่ ลู รีดด์ จากอัลบั้ม เมจิกแอนด์ลอส การลบคือการเปลี่ยนแปลง นิทรรศการนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทของการลบซึ่งเป็นส่วนสำคัญยี่งต่อกระบวนการของการสร้างสรรค์ภาพวาดเส้น การลบเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้เพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทางการเมือง สังคม สิ่งแวดล้อมและการรับรู้ด้านสุนทรียศาสตร์ การลบที่เกิดขึ้นในผลงานบางชิ้นนั้นเป็นการแสดงออกในรูปแบบหนึ่งหรือเป็นการทับซ้อนของห้วงเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน หรือเป็นการเสนอแนวคิดเพื่อนำ ไปสู่การปฎิบัติและการสืบค้นอดีต ไม่ว่าในกรณีใดการลบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเหมือนแผ่นปาลิมพ์เสสท์ (palimpsest) หรือวัสดุที่ใช้ในการบันทึกประเภทหนึ่งที่ถูกใช้เขียนแล้วสามารถลบออกเพื่อนำกลับมาเขียนใหม่ได้ คำว่า “ปาลิมพ์เสสท์” ในความหมายดั้งเดิมหมายถึงต้นฉบับที่เขียนด้วยมือโดยผู้บันทึกสามารถลบข้อความบาง ส่วนหรือทั้งหมดออกเพื่อทำให้เกิดที่ว่างสำหรับเขียนข้อความอื่น คำ ๆ นี้มีความหมายกว้างขึ้นเมื่อนำไปใช้ในแวดวงต่าง ๆ โดยทั่วไปคำนี้มักจะถูกใช้ในการกล่าวถึงวัสดุหรือสถานที่ใด ๆ ที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเช่น ซากปรักหักพังของอาคารที่ยังที้งร่องรอยของอดีต แม้ว่าคำ ๆ นี้จะมีความหมายครอบคลุมด้านใด ปาลิมพ์เสสท์เน้นถึงการทำให้เกิดเครื่องหมาย การลบทิ้งและการเขียนขึ้นใหม่โดยมีเวลาชั่วขณะหนึ่งซ้อนทับกันอยู่ทีละชั้นทำให้เกิดพื้นผิวที่ซับซ้อนของลักษณะที่ว่างและลักษณะดำรงอยู่ชั่วคราว - ปัจจุบันที่มีรอยอดีตฝังอยู่ คริสเตียน คาเพอร์โร (Christian Capurro) นำการลบมาใช้ในการทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามความ หมายเดิมของปาลิมพ์เสสท์ ในขณะที่ทอม นิโคลสัน (Tom Nicholson) และราเควล ออร์เมลลา (Raquel Ormella) ใช้การลบและชิ้นส่วนวัตถุต่าง ๆ เพื่อแสดงความเชื่อมโยงจากอดีตถึงปัจจุบัน เวอร์นอน อาห์ คี (Vernon Ah Kee) สิมริน กิลล์ (Simryn Gill) และโจนาทอน โจนส์ (Jonathan Jones) ใช้การลบและการทับซ้อนเป็นชั้นเพื่อแสดงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดและนำเสนอการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน เวอร์นอน อาห์ คีย์ การสืบเชื้อสายมาจากชาวพื้นเมืองออสเตรเลียและเรื่องราวเหตุการณ์ในอดีตเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ศิลปิน เน้นย้ำเรื่องอดีตและประวัติศาสตร์ของชาวพื้นเมือง สิทธิในการแสดงความคิดเห็นของชาวพื้นเมืองในปัจจุบันซึ่งในอดีตเป็นเพียงความเงืยบและความเมินเฉย นอกจากการสร้างผลงานที่ใช้ข้อความและวีดีโอเป็นสื่อแล้ว เขาวาดภาพสมาชิกครอบครัวของเขาและภาพเหมือนตนเองเพื่อแสดงวาทกรรมว่าด้วยตัวตนและอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์อย่างเข้มข้น ภาพวาดเส้นขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดนั้นจับจ้องอยู่ที่ผู้ชมแสดงบรรยากาศที่เต็มไปด้วยพลัง การสดุดีและความเชื่อมั่น ผลงานชุด unwritten 2008 สะท้อนความขุ่นเคืองและความคับแค้นใจที่ศิลปินมีต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปีค.ศ. 2004 จากการเสียชีวิตระหว่างการถูกคุมขังของชายชาวพื้นเมืองออสเตรเลียคนหนึ่งที่เกาะปาล์ม (อยู่ในรัฐควีนส์แลนด์) รวมทั้งกระบวนการไต่สวนและการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เกี่ยวข้องที่เกิดขึ้นต่อมาในภายหลัง ภาพหน้าคนในผลงานชุดนี้ไม่ใช่ใบหน้าที่กำลังจะเลือนหายไปสู่ความว่างเปล่าหรือเหลืออยู่เพียงโครงร่างหลัก ใบหน้าเหล่านั้นถูกทำให้เกลี้ยงเกลา แสดงการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะผลักออกไปจากภาพที่มีผืนผ้าใบเป็นเสมือนผ้าปิดหน้า ภาพวาดชุดนี้ต่างจากการเขียนภาพเหมือนตามธรรมชาติที่ศิลปินเคยทำมาก่อน ภาพหน้าคนเหล่านี้เกิดจากการวาดเส้นที่กระจัดกระจายไปทั่วผืนผ้าใบ เส้นต่าง ๆ สานวนเข้ากับใบหน้า รูจมูกและเบ้าตา บอกถึงอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงของพลังชีวิตที่ทำการต่อต้านการเหยียดหยามทางเชื้อชาติและย้ำเตือนให้ยอมรับความหลาก หลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธ์ คริสเตียน คาเพอร์โร นำหน้าของนิตยสารสองฉบับมาประกบกัน แผ่นหนึ่งมีสีค่อนข้างขาวและว่างเปล่าถูกนำมาใช้เป็นแผ่น “ต้อนรับ” แผ่นที่สองมีภาพคนและสินค้าต่าง ๆ กระดาษแผ่นนี้จะถูกแรงที่เกิดจากน้ำหนักมือกดถูเพื่อลบภาพที่อยู่ด้านหลัง รูปทรงคล้ายรอยด่างและภาพเงาทึบปรากฏขึ้นโดยถูกย้ายมาจากหน้ากระดาษแผ่นหนึ่งไปยังอีกแผ่นหนึ่ง แผ่น ‘‘ต้อนรับ” ได้เก็บภาพไว้ส่วนอีกแผ่นหนึ่งได้ลบภาพออกไป สุดท้ายแล้วภาพบนแผ่น ‘‘ต้อนรับ” ถูกลบทิ้งด้วยน้ำ ยาลบคำผิดคงเหลือไว้เพียงร่องรอยที่ถูกลบและภาพที่ถูกย้ายที่มา - กดดัน - คริสเตียน คาเพอร์โร ในผลงาน Compress (pit of doublivores) 2006—07 ศิลปินใช้วิธีลอกออกทีละชั้น การถูภาพ หมึกและน้ำยาลบคำ ผิด เพื่อลบ ย้ายที่และแก้ไขภาพต่าง ๆ ที่นำมาจากหน้านิตยสารไลฟ์สไตล์ ภาพดึงดูดใจที่คงเหลืออยู่บนแผ่นกระ ดาษคือร่องรอยทางกายภาพหรือส่วนที่ตกค้าง ภาพเหล่านี้กลายเป็นเพียงภาพจางที่แทบจะมองไม่เห็นเมื่อนำไปแขวนบนผนังห้องแสดงงานศิลปะ ศิลปินต้องการแสดงให้ผู้ชมเห็นพื้นที่แห่งการไม่ยอมรับภาพที่เห็นอยู่ดาษดื่นในวัฒนธรรมร่วมสมัย แม้ในเบื้องต้นภาพจากหน้านิตยสารที่นำมาใช้จะสามารถสี่อสารให้ผู้ชมเข้าใจได้ทันทีหรือสร้างภาพลักษณ์ในด้านบวก แต่เมื่อนำภาพเหล่านั้นมาผ่านกระบวนการกดถูจนถึงขั้นสุดท้ายแล้วภาพที่เกิด ขึ้นใหม่เปลี่ยนรูปเป็นภาพแบบนามธรรมมากขึ้น การมองเห็นภาพด้าน ‘ลบ’ ได้ต้องอาศัยประสบการณ์การรับรู้ของผู้ชมที่จะสามารถตีความภาพสีขาวที่ปรากฎอยู่บนแผ่นกระดาษสีขาวหรือมองอย่างพินิจพิเคราะห์ถึงสี่งที่มีอยู่หรือถูกลบออกจากพื้นผิวของแผ่นกระดาษ ผลงานนี้สะท้อนมุมมองที่ศิลปินมีต่อสังคมร่วมสมัย แสดงนัยยะของการตีความ สื่อสารถึงสี่งที่หายไปและสี่งที่ปรากฏอยู่ทั้งด้านรูปธรรมและนามธรรม เช่นเดียวกับภาพที่เห็นตรง หน้าที่ปรากฎอยู่ในนิตยสารต่าง ๆ ภาพเหล่านั้นยังมีเรื่องราวอื่น ๆ ซ่อนเร้นอยู่ สิมริน กิลล์ สิมริน กิลล์ มักจะนำวิธีการการลบหรือการตัดทอนมาใช้ในการทำงานโดยนำสื่อวัสดุด้อยค่าหรือแนวความคิดเกี่ยวกับสถานที่มานำเสนอในรูปแบบใหม่ เช่นการนำเศษขยะข้างถนนมาทำเป็นวัตถุที่มีล้อเล็กหรือการตัดข้อ ความจากหนังสือต่าง ๆ ผลงาน Four atlases of the world and one of stars 2009 ศิลปินได้นำแผนที่โลกแบนราบมาหมุนเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นแผนที่สามมิติและย่อขนาดลงให้มีขนาดเท่ากับลูกบอลที่ทำด้วยกระดาษ ผลงานชิ้นนี้และงานวาดเส้นชุด Sydney maps แสดงให้เห็นถึงทักษะของศิลปินในการผสมผสานเรื่องจักรวาลให้เข้ากับเรื่องที่เฉพาะเจาะจงได้เป็นอย่างดีและยังสะท้อนถึงความหลงไหลที่ศิลปินมีต่อวัสดุธรรมดาต่าง ๆ ผลงานชื่อ Sydney maps 1998 ศิลปินนำขี้ผึ้งถูลงบนแผ่นกระดาษและนำแผ่นกระดาษเหล่านั้นไปวางบนรอยที่แยกออกเป็นช่องหรือรูโหว่ของทางเดินเท้าต่าง ๆ ในเมืองซิดนี่ย์ ทางเดินเท้าที่ผู้คนเดินเหยียบย่ำและทำให้เกิดร่องรอยอยู่ทุกวันจึงทำหน้าที่เสมือนวัสดุที่ใช้เขียนบันทึกผิวโลกซึ่งชั้นคอนกรีตของทางเดินเท้านั้นไม่สามารถที่จะหยุดยั้งการเคลื่อนตัวของพื้นดินที่อยู่ข้างล่างได้ แม้ในเบื้องต้นผู้ชมเห็นรอยเส้นที่ปรากฎอยู่บนกระดาษแล้วอาจตีความถึงการมองโลกในแง่ร้าย (ดังเช่นความร้าวฉานหรือความแตกร้าว) แต่ในมุมมองของศิลปินแล้วกลับมองเห็นว่ารอยแยกเหล่านั้นคือการแสดงออกที่งดงามและเรียบง่ายเพราะมันได้คัดลอกลวดลายของชีวิตออกมาและยังนำเสนอแนวทางใหม่ในการจินตนาการถึงสถานที่ที่ปรากฎอยู่ในภาพวาดทิวทัศน์ โจนาทอน โจนส์ ศิลปินนำลวดลายและรูปทรงที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากบรรพบุรุษชาวพื้นเมืองของเขามาใช้เป็นแนวทางการสร้างสรรค์วาดเส้นสไตล์มินิมัลเพื่อระลึกถึงอดีตที่ส่งผลสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกันกับแนวคิดเรื่องการรับรู้ทางสายตาจากการเห็นภาพท้องฟ้าและผืนดินในเวลาเดียวกัน ภาพวาดนามธรรมที่ศิลปินเขียนด้วยดินสอกราไฟต์ทำให้เกิดรูปประสมของสีดำกับสีขาว ระหว่างเส้นสีดำหนาทึบของดินสอกราไฟต์ที่วาดให้น้ำหนักนุ่มนวลและแถบสีขาวที่เกิดจากการฉีกออกจากพื้นผิวของกระดาษเว้านูน ผลงานศิลปะอินสตอลเลชั่นประติมากรรมนีออนของเขาได้เปลี่ยนมุมมองแบบสองมิตินี้ให้เป็นแบบสามมิติซึ่งทำให้การรับรู้ของผู้ชมที่เกิดจากการมองเห็นเพราะภาพและพื้น (ด้วยการจำแนกมวลรูปทรงและพื้นภาพออกจากกัน) เปลี่ยนไปและผู้ชมจะสามารถรับรู้ได้มากยี่งขึ้นจากบทสนทนาระหว่างสีขาวและสีดำซึ่งสะท้อนแนวความคิดหลักในการทำงานของศิลปินที่เกี่ยวข้องกับเรื่องชุมชนสัมพันธ์ ซึ่งศิลปินกล่าวว่า “การดำเนินงานในระดับชุมชนและระดับปัจเจกชนมีเอกภาพหนึ่งเดียวกันที่จะเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนในระดับชาติ” ส่วนสีขาวของผลงานพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสีดำ จึงเห็นได้ว่าการปรากฎขึ้นมาของเส้นสีขาวที่ถูกลบออกจากดินสอกราไฟต์นั้นขึ้นอยู่กับการปรากฏขึ้นมาของส่วนที่เป็นสีดำเช่นกัน งานกราฟฟิกของโจนส์โดยรวมแล้วสะท้อนสังคมและการเมืองในแง่ดี เขานำเสนอการมองต่างมุมและนำสัญญลักษณ์แห่งอดีตมาใช้เพื่อสร้างความหวังและแสดงถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ทอม นิโคลสัน ธงที่มีรูปหน้าของมารา (Jean-Paul Marat ฌัง ปอล มารา นายแพทย์ นักหนังสือพิมพ์และนักปลุกระดมสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส) ซึ่งนำมาจากผลงานภาพเขียนชื่อความตายของมารา (1793) โดยศิลปินฝรั่งเศสชัค หลุยส์ เดวิด (Jacque-Louie David) ความสนใจที่ผมมีต่อใบหน้าของมารานั้นส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากภาพใบหน้าอันน่าฉงนที่แสดงอยู่ในแนวนอน ใบหน้านี้ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนหน้ากากแห่งความตายและเป็นการประกาศต่อสาธารณะ (ภาพนี้ถูกวาดขึ้นทันทีหลังการลอบสังหารมาราและได้นำไปจัดแสดงแก่สาธารณชนที่ลานด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานลูฟวร์ เพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม) ภาพวาดของเดวิดเน้นการแสดงให้เห็นลมหายใจเฮือกสุดท้ายของมารา อุปมาดังการเคลื่อนไหวครั้งสุดท้ายของสายลมที่ถูกทำให้หยุดลงด้วยความ “นี่ง” ของภาพเขียนนี้ ผลงานชุดนี้สร้างขึ้นโดยใช้เทคนิควาดเส้นเป็นหลัก ศิลปินวาดภาพขนาดใหญ่จำนวนสามภาพและทำการแก้ไขเพิ่มเติมโดยใช้เวลาหลายเดือน ศิลปินถ่ายรูปบันทึกภาพการพัฒนางานในระยะต่าง ๆ แปดระยะและได้นำภาพทั้งแปดภาพนั้นมาวาดลงบนผืนธง การวาดเส้นในรูปแบบนี้เป็นวิธีการทำงานเช่นเดียวกับการนำภาพวาดด้วยมือมาทำซ้ำโดยใช้เครื่องจักรเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อซึ่งเป็นที่นิยมทำในสหภาพโซเวียต ดินสอถ่านเป็นวัสดุเขียนภาพที่เพิ่มโอกาสให้ศิลปินใช้ในการทำงาน แก้ไขและสร้างพื้นที่ให้เติบโตต่อโดยไม่จำกัดและยังเห็นศักยภาพของมันได้เมื่อลมพัดธงสะบัดไหวทำให้ใบหน้าเปลี่ยนไปหลายรูปแบบ ราเควล ออร์เมลลา ผลงานชื่อ 130 Davey Street 2005—09 เกิดขึ้นมาจากความพยายามของฉันในการทำงานทั้งในฐานะศิลปินและนักเคลื่อนไหวให้แก่องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติและสี่งแวดล้อมซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านสี่งแวดล้อมในระดับรากหญ้าที่เก่าแก่และมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศออสเตรเลีย องค์กรนี้ประสบความสำเร็จในการปกป้องดูแลพื้นที่ป่าธรรมชาติมากมายโดยเฉพาะอย่างยี่งบนเกาะทัสมาเนียซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ตอนใต้สุดของประเทศ ผลงานวาดเส้นภาพทิวทัศน์ชุดนี้ใช้ปากกาเขียนสีติดถาวรบนกระดานไวท์บอร์ดที่ทำด้วยเมลามีนที่เคลื่อนที่ได้ ฉันนำภาพถ่ายที่ได้บันทึกไว้ในช่วงสองปีขณะทำงานอยู่ที่ศูนย์การรณณรงค์ ที่เมืองโฮบาร์ทในรัฐทัสมาเนียมาทำเป็นภาพลายเส้น การถ่ายทอดภาพถ่ายต้นแบบให้เป็นภาพวาดได้สร้างบทสนทนาในการปะทะสังสรรค์ระหว่างภาพถ่ายธรรมชาติกับภาพวาดทิวทัศน์ การถ่ายทอดธรรมชาติอันน่าประทับใจผ่านเทคนิคภาพถ่ายและภาพวาดเส้นนี้ถูกรบกวนด้วยลักษณะที่เป็นทาง การของกระดานไวท์บอร์ดซึ่งถูกนำมาใช้เป็นสัญญลักษณ์ของการระดมความคิดที่เกิดขึ้นในองค์กรต่าง ๆ ที่ผู้คนคุ้นเคย ผลงานนี้ตั้งคำถามถึงความแตกต่างในการถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกและเนื้อหาสาระระหว่างผู้ที่ทำงานเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสี่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ธรรมชาติโดยตรงกับศิลปินที่ทำงานศิลปะสะท้อนการเมืองผู้ดื่มด่ำกับธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ