Social Enterprise อีกความหวังสร้างระบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นก้าวหน้า

ข่าวทั่วไป Tuesday June 1, 2010 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมขึ้น โดยมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน น้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นฐานในการสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่อย่างเป็นรูปธรรม โดยเรียกกิจการดังกล่าวว่า “กิจการเพื่อสังคม” นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการ คณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม กล่าวว่า หลายประเทศวางรากฐานสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ สำหรับประเทศไทยมีองค์กรเอกชนใหญ่ๆ ทำนโยบายเพื่อสังคมอยู่บ้าง หรือที่เรียกกันว่า Corporate Social Responsibility: CSR เพื่อร่วมแสดงรับผิดชอบต่อสังคม แต่สิ่งที่บริษัทนั้นๆ ทำ ยังเป็นเพียงแค่กิจกรรม เช่น การแบ่งผลกำไร มาปลูกป่า ลดภาวะโลกร้อน, การมอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนในชนบท ซึ่งไม่ได้มีรูปแบบและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศและสังคมโดยตรง อีกทั้งโครงสร้างหลักการทำงานขององค์กรยังทำเพื่อหวังกำไรเช่นเดิม “กระแส CSR ที่บริษัทใหญ่ๆ กำลังทำอยู่ ในด้านต่างๆ คล้ายการสร้างภาพลักษณ์เพื่อให้องค์กรนั้นๆ ดูดีเสียมากกว่า เพราะการทำ CSR ราคาถูกกว่าการทำโฆษณา ให้ผลตอบรับที่ดี แต่กิจการเพื่อสังคม ไม่ใช่ CSR ข้อเท็จจริงต่างกันโดยสิ้นเชิง” สำหรับคำนิยาม “กิจการเพื่อสังคม” นายอภิรักษ์ อธิบายว่า คือ กิจการที่มีรายรับจากการขาย การผลิตสินค้า และ/หรือการให้บริการ ที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป้าหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่ม สามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าของเท่านั้น นายอภิรักษ์ กล่าวว่า กิจการเพื่อสังคมสามารถทำได้โดย รูปแบบที่ 1 จากหน่วยงานของรัฐที่ทำนโยบายสาธารณะ ทำกิจการสาธารณะ กลุ่มที่ 2 ธุรกิจที่เป็นส่วนตัว สร้างรายได้ สร้างกำไร แต่เพิ่ม หันมาทำธุรกิจเพื่อสังคม เป็นบริษัทในเครือข่าย และส่วนที่ 3 มีการตั้งหน่วยงานของรัฐบาลเพื่อช่วยหน่วยงานต่างๆที่อยากทำ แต่ไม่อยากทำในเชิงของมูลนิธิ ไม่อยากพึ่งเงินของใคร สามารถมากู้เงินจากรัฐไปทำกิจการ หวังสร้างผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ นายอภิรักษ์ เชื่อว่า กิจการเพื่อสังคม จะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม หากมีการเชื่อมโยงที่เป็นหน่วยใหญ่ขึ้น สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น จะช่วยให้คนเปลี่ยนความคิดจากการเรียนจบมหาวิทยาลัย แล้วมาเป็นลูกจ้าง ก็มาเป็นผู้ประกอบการ สอนให้สร้างอาชีพ ไม่ใช่สอนให้เขาไปหาทำงานแล้วต้องตกงาน ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่สามารถนำไปต่อยอดกิจการรุ่นพ่อ รุ่นแม่ที่เขามี เช่น พ่อแม่ทำการเกษตร ก็กลับไปต่อยอด บริหารการจัดการให้ดีขึ้นได้ กิจการเพื่อสังคมอย่าทำเพียงเป็นกระแส ด้าน นพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 และสมาชิกเครือข่ายสถาบันทางปัญญา กล่าวถึงกิจการเพื่อสังคมว่า หากจะทำจริงๆ ต้องยึดหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อย่าทำเพียงเป็นกระแส หรือว่าทำเพื่อพอใจ แล้วจบไป แต่ต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง ไม่เช่นนั้น จะกลายเป็นว่า ของอะไรดีๆ พอมาเมืองไทยแล้วก็เสียหมด “อย่างที่ประเทศอังกฤษที่กิจการเพื่อสังคม ประสบความสำเร็จ เติบโตได้ รัฐไม่ได้เข้าไปส่งเสริมทั้งหมด แต่เกิดจากสำนึกของคนรุ่นใหม่ ว่า ถ้าไปทำธุรกิจที่ไม่มีคุณค่าไม่ใช่สิ่งที่ดี หรือไปเรียกร้องความสงสารเงินจากคนอื่นก็ไม่ได้ แต่ต้องทำสิ่งที่เป็นกุศล เป็นความดี ทำแบบธุรกิจ เป็นสินค้าที่ดี มีคุณค่า แล้วคนในสังคมอยากซื้อ คนไทยก็ต้องทำให้เกิดมาจากจิตสำนึกแบบนี้เช่นเดียวกันด้วย” ไม่รอช้า เร่งนโยบายรัฐเข้าช่วย กดดันเอกชนร่วมมือ แม้ว่ากิจการเพื่อสังคม จะเป็นกิจการที่ช่วยส่งเสริมเรื่องการแก้ปัญหาต่างๆ ในสังคมเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ปัญหาความไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการเปลี่ยนเป้าหมายการทำงานในองค์กรธุรกิจ ดูจะเป็นเรื่องที่ยาก ดร.ชิงชัย หาญเจนลักษณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการค้าระหว่างประเทศ เห็นว่า ช่วงเวลานี้เป็นจังหวะที่ดี ช้าไม่ได้ ประเทศไทยต้องอยู่ต่อไป หากจะทำให้อยู่รอดได้ ต้องทำแนวธุรกิจทำเพื่อสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ CSR หรือกิจการให้สินเชื่อขนาดเล็กสำหรับคนยากจน (micro-credit) ที่มีอยู่แล้วทั่วไป ดร.ชิงชัย เสนออีกว่า การทำกิจการเพื่อสังคมต้องสร้างแรงกดดัน โดยให้รัฐบาลไปดึงเอกชนเข้ามา ทุกคนต้องร่วมมือกัน ภาครัฐเป็นผู้ชี้แนะ สร้างแรงกดดันทางสังคม ดีกว่าไปเน้นให้เอกชนทำเพียงสื่อสารทางสังคมอย่างเดียว เช่นเดียวกับ อาจารย์มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ข้อเสนอเกี่ยวกับการทำงานของกิจการเพื่อสังคมว่า ลำพังเอกชนทำกันเองไม่มีทางสำเร็จ คนที่จะทำได้ดี คือ รัฐบาล ที่ต้องปฏิรูปนโยบายให้มีความเท่าเทียมกัน เช่น การส่งเสริมการลงทุน (BOI) การลดหย่อนภาษี นำวัตถุดิบ หรือเครื่องจักรเข้าฟรี แต่เรากลับพบว่า กิจการเหล่านั้นทำเพื่อสังคมเพียงเล็กน้อย ซึ่งต้องให้รัฐบาลปรับมอบนโยบายใหม่ เรื่องการให้สิทธิประโยชน์ตรงนี้ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ