กรุงเทพฯ--17 พ.ค.--กทม.
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบปะกับ Mr. Michael R. Bloomberge นายกเทศมนตรีแห่งนครนิวยอร์ก ณ เซ็นทรัลปาร์ค สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของนิวยอร์ก ระหว่างการประชุมเมืองใหญ่ด้านสภาพภูมิอากาศ (C40 Large Cities Climate Summit) ซึ่งมีนายกเทศมนตรี ผู้ว่าการเมือง และนักธุรกิจระดับสูง จาก 40 เมืองใหญ่ทั่วโลกมาร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนและวางยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน
ณ นครนิวยอร์ก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุมเมืองใหญ่ด้านสภาพภูมิอากาศ (C40 Large Cities Climate Summit) ระหว่างวันที่ 14-17 พ.ค.50 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งใน 40 ของผู้นำเมืองจากทั่วโลกที่ได้รับคำเชิญจาก Mr. Michael R.Bloomberge นายกเทศมนตรีแห่งนครนิวยอร์กให้เข้าร่วมการประชุมหารือเรื่องการจัดตั้งเครือข่ายที่เป็นรูปธรรมของผู้นำเมืองต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วยนายกเทศมนตรีและผู้ว่าการเมือง และนักธุรกิจระดับสูง เพื่อมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน คือ ภาวะโลกร้อน(Global Warming) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติเพื่อเป็นการรักษาทรัพยากรของโลก รวมทั้งจัดหาพลังงานใหม่ทดแทน ตลอดจนแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติที่เป็นเลิศและเป็นที่ยอมรับในการนำไปจัดยุทธศาสตร์ของเมืองต่อไป
"การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ถือการเรียนลัด เพราะได้พบปะแลกเปลี่ยนแนวทาง และศึกษากลยุทธ์จากเมืองต่างๆ ที่ตื่นตัวเรื่องภาวะโลกร้อนและได้ดำเนินการมานานแล้วจนภาคเอกชน และประชาชนในเมืองนั้น ๆ เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้นำแนวทางเหล่านั้นไปปรับใช้กับกรุงเทพฯ และกระตุ้นประชาชนชาว กทม.ให้ตระหนักในปัญหาดังกล่าวและมาส่วนร่วมในการแก้ไขต่อไป" นายอภิรักษ์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมประชุมในหัวข้อกลุ่มย่อยในหัวข้อระบบขนส่ง (Transport) ซึ่งมีการแลกเปลี่ยนแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การส่งเสริมให้ใช้พลังงานทดแทน พลังงานสะอาด(Clean Energy) และเครื่องยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการนำรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือ Bangkok BRT ที่ กทม. กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้โดยจะใช้เครื่องยนต์แบบยูโร II ก็เป็นการเดินถูกทางเพราะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการผลักดันให้เกิดพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถส่วนตัว ซึ่งมีอยู่ในกรุงเทพฯ ประมาณ 5.5 ล้านคัน ให้หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะ ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
ในวันที่ 16 พ.ค.50 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีกำหนดกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมถึงแนวทางที่กรุงเทพมหานครใช้ดำเนินการเพื่อผลักดันและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งได้มีการจับมือกับ 36 องค์กร ประกอบด้วยหน่วยงานภาครับ เอกชน และองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ลงนามประกาศปฏิญญากรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมถึงการออกแคมเปญรณรงค์เชิญชวนประชาชนงดการใช้พลังงานเกินจำเป็น ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การดับไฟ หรือลดการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น และการร่วมกับภาคเอกชนจัดซุ้มให้ประชาชนนำหลอดไส้มาแลกเป็นหลอดตะเกียบประหยัดไฟ ถือเป็นการเริ่มต้นขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง นอกเหนือจากการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้ถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มสวนสาธารณะให้มากขึ้น การจัดสวนแนวตั้งและสวนดาดฟ้า ตรวจจับรถควันดำ การล้างทำความสะอาดถนน รวมทั้งมาตรการลดใช้พลังงานในหน่วยงานราชการ เป็นต้น
อนึ่ง บรรดาผู้นำเมืองทั้ง 40 เมืองใหญ่ที่ได้รับเชิญให้ร่วมประชุมในครั้งนี้ ล้วนได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการใช้พลังงานและเป็นแหล่งที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ส่งผลต่อภาวะก๊าซเรือนกระจกที่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลกและภาวะโลกร้อน ในแต่ละปีกรุงเทพฯ มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 40% ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเร่งให้เกิดภาวะโลกร้อน กรุงเทพมหานครตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจในหมู่ประชาชนเพื่อร่วมกันลดปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net