กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--เมืองไทยประกันภัย
เมืองไทยประกันภัย และภัทรประกันภัย ประกาศผนึกกำลังเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ด้วยการ “ควบกิจการ” มั่นใจก้าวขึ้นสู่บริษัทประกันวินาศภัยในระดับแนวหน้าของประเทศ ภายใน 5 ปี ด้วยเบี้ยประกันภัยกว่า 7 พันล้านบาท นับเป็นการผนึกกำลังครั้งประวัติศาสตร์ของทั้ง 2 บริษัท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ อีกทั้งรองรับกับนโยบายการเปิดเสรีประกันภัยในอนาคตอันใกล้ได้เป็นอย่างดี
คณะกรรมการบริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และคณะกรรมการบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ได้อนุมัติในข้อตกลงเรื่อง “การควบกิจการระหว่าง บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด” เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ที่ประชุมของทั้ง 2 คณะกรรมการมีมติอนุมัติ และเห็นชอบตามหลักการเรื่องการควบกิจการของบริษัททั้ง 2 และภายหลังจากการควบกิจการ ให้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทประกันวินาศภัยใหม่ ซึ่งจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยจะดำเนินการได้ประมาณหลังเดือนมีนาคม 2551
นางกฤตยา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด ได้แถลงข่าวร่วมกัน ในการจับมือเพื่อผนึกกำลังควบกิจการของทั้ง 2 บริษัท โดยวางเป้าหมายระยะยาวเพื่อก้าวขึ้นสู่บริษัทประกันวินาศภัยในระดับแนวหน้าของประเทศ ภายใน 5 ปี ด้วยเป้าหมายของเบี้ยประกันภัยที่เติบโตเป็น 2 เท่า หรือกว่า 7,000 ล้านบาท
นางกฤตยา ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภัทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง วัตถุประสงค์หลักในการควบกิจการของทั้ง2บริษัทครั้งนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งทางธุรกิจประกันวินาศภัย จากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสภาวะการแข่งขันในธุรกิจประกันวินาศภัยที่ทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ รวมทั้งเพื่อรองรับกับนโยบายการเปิดเสรีประกันภัยในอนาคต
ในด้านแผนการดำเนินธุรกิจหลังการควบกิจการ จะทำให้บริษัทสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่นการใช้ระบบเครือข่ายสารสนเทศร่วมกัน ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งการจัดสรรการใช้บุคลากรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ นโยบายหลักในด้านบุคลากรนั้น บริษัทจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน แต่จะมีการจัดสรรพนักงานในสายธุรกิจใหม่ ที่อาจจะมีการขยายเพิ่มเพื่อรองรับการเข่งขันในอนาคต
ด้านนางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด เปิดเผยว่า ภายหลังจากขั้นตอนการควบกิจการเสร็จสมบูรณ์แล้ว จะมีการจัดตั้ง “บริษัทประกันวินาศภัยขึ้นใหม่” ซึ่งจะมีฐานเบี้ยประกันภัยที่หลากหลายและครอบคลุม โดยจะมีการกระจายตัวของผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสม โดยบริษัทใหม่นี้ จะมีฐานเบี้ยประกันภัยรถยนต์ประมาณร้อยละ 35 ขณะที่มีฐานเบี้ยประกันอัคคีภัยประมาณร้อยละ 28 ส่งผลดีต่อการลดความเสี่ยงในด้านการดำเนินงาน ที่ไม่มีการพึ่งพารายได้จากผลิตภัณฑ์หลักใดเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทที่มีในด้านต่างๆ เป็นการเสริมกันอย่างลงตัวและเหมาะสม ทั้งด้านการรับประกัน การตลาด คู่ค้าและพันธมิตร โดยบริษัทใหม่จะมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุม ทั้งผ่านสถาบันการเงินหรือแบงก์แอสชัวรันส์ ประมาณร้อยละ 34 ตัวแทนและนายหน้าประมาณร้อยละ 31 ทีมขายตรงประมาณร้อยละ 16 พันธมิตรประกันภัยรถยนต์ประมาณร้อยละ 15 รวมทั้งช่องทางการตลาดตรง เช่น การขายประกันภัยผ่านโทรศัพท์ ประมาณร้อยละ 4
นางกฤตยา ล่ำซำ ได้เปิดเผยต่อว่า ในส่วนของภัทรประกันภัยซึ่งมีเงินกองทุนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดมากนั้น คณะกรรมการบริษัทได้มีมติประกาศจ่ายเงินปันผลพิเศษ 50 บาทต่อหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นตามที่มีชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 5 พ.ย. 2550 โดยจะจ่ายภายในวันที่ 9 พ.ย. 2550
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ได้เปิดเผยถึงมติคณะกรรมการบริษัทเมืองไทยประกันภัย ที่อนุมัติให้บริษัทมีการปรับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้น จากหุ้นละ 100 บาทเป็น หุ้นละ 10 บาท ทำให้บริษัทเมืองไทยประกันภัยมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 39 ล้านหุ้น ที่ทุนจดทะเบียน 390 ล้านบาท
หลังการจ่ายปันผลของภัทรประกันภัยและการปรับมูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นบริษัทเมืองไทยประกันภัยแล้วนั้น จะทำให้บริษัทใหม่มีทุนจดทะเบียน 590 ล้านบาท ณ มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท หรือเท่ากับ 59 ล้านหุ้น โดย 1 หุ้นของภัทรประกันภัย จะสามารถแปลงเป็น 1.9588 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นของเมืองไทยประกันภัย จะสามารถแปลงเป็น 0.5083 หุ้นในบริษัทใหม่
ในด้านเงื่อนไขในการควบกิจการนั้น ทั้ง 2 บริษัท ต้องมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละแห่งเพื่อขออนุมัติการดำเนินการควบกิจการ ต้องมีการขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้ รวมถึงผู้เอาประกันภัยทุกราย ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ทำให้ระยะเวลาของการเริ่มดำเนินการของบริษัทใหม่ คาดว่าจะประมาณเม.ย. 2551
นางกฤตยา ล่ำซำ ยังได้พูดถึงความมั่นคงของบริษัททั้ง 2 แห่งที่เมื่อมีการควบกันจะยิ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เอาประกัน ลูกค้า และคู่ค้าทุกราย ในด้านความมั่นคงของเงินกองทุนที่จะมีเงินกองทุนสูงกว่า 10 เท่าที่กฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ หรือ ประมาณกว่า 2,600 ล้านบาท ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ของธุรกิจประกันวินาศภัย และเป็นการสร้างความมั่นใจในการเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ รวมถึงการบริการก่อนและหลังการขาย โดยคงไว้ซึ่งมาตรฐานบริษัทประกันวินาศภัยดีเด่นอันดับ 1 อย่างต่อเนื่อง
สำหรับรายละเอียดด้านโครงสร้างการบริหารจัดการ รวมทั้งโครงสร้างผู้บริหาร ชื่อบริษัทใหม่ และรายละเอียดแผนธุรกิจนั้น ทั้ง 2 บริษัทจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อวางนโยบายและกำหนดกรอบการบริหารจัดการอย่างละเอียดต่อไป