กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์
ประเด็นข่าว
สมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ ประกาศผลการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรืออินเทลไอเซฟ ที่จัดขึ้น ณ ซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา? นักเรียนไทยที่เข้าร่วมประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลทั้งหมด 4 รางวัล จาก 4 โครงงานที่ส่งเข้าประกวด โดยเป็นผลงานประเภทเดี่ยวของ นางสาว มาลินี มีทา นายศุภชัย นิลดำ และนายฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา รวมทั้งเป็นผลงานประเภทกลุ่มของนางสาวสายฝน นภนิภาพัฒนาร่วมกับ นางสาวอภิชญา นพเลิศ
วันนี้ อินเทล คอร์ปอเรชั่น ร่วมกับสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลจากการแข่งขันผลงานวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งใช้ชื่อว่าการประกวดผลงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรืออินเทลไอเซฟ (Intel ISEF) โดยผลงานจากนักเรียนไทยทั้งหมด 4 โครงงาน ประกอบด้วยโครงงานเดี่ยว 3 โครงงาน และโครงงานกลุ่ม 1 โครงงาน ได้รับรางวัลแกรนด์อวอร์ด (Grand Award) และสเปเชี่ยลอวอร์ด (Special Award) จากการประกวดครั้งนี้
โครงงานประเภทเดี่ยวของนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลได้แก่ โครงงานที่มีชื่อว่า “ผลของสารสกัดจากพืชวงศ์ Euphorbiaceae กำจัดกลุ่มปูนา Somanniathelphusa sexpucntata” พัฒนาโดย นางสาวมาลินี มีทา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จังหวัด ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับ รางวัลที่ 3 ประเภทแกรนด์ อวอร์ด เป็นทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐ สำหรับโครงงาน“ผลตอบแทนและคุณภาพของยางก้อนถ้วยระหว่างการใช้น้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพกับกรดฟอร์มิก” พัฒนาโดยนายศุภชัย นิลดำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์ จังหวัดศรีสะเกษได้รับรางวัลที่ 4 ประเภทแกรนด์ อวอร์ด ในสาขา วัสดุและชีววิศวกรรม เป็นทุนการศึกษามูลค่า 500 เหรียญสหรัฐ และโครงงานที่มีชื่อว่า “การศึกษาโบราณชีววิทยาของหอยฝาเดียวยุคเพอร์เมียน บริเวณเขาน้อย อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์” พัฒนาโดย นายฉัตรเฉลิม เกษเวชสุริยา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนตาคลีประชาสรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับรางวัลที่ 3 ประเภท Special Awards จากกรมทรัพยากรธรณีของประเทศสหรัฐอเมริกา (American Geological Institute) เป็นทุนการศึกษามูลค่า 250 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ โครงงานกลุ่มที่มีชื่อว่า “ผลของการดัดแปลงสี รสชาติ และกลิ่นของเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยสารจากธรรมชาติต่อการป้องกันนกกินข้าวในนาหว่าน” พัฒนาโดย นางสาวสายฝน นภนิภา และนางสาวอภิชญา นพเลิศ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนพนมสารคาม "พนมอดุลวิทยา" จังหวัด ฉะเชิงเทรา ได้รับรางวัลที่ 4 ประเภท แกรนด์ อวอร์ด เป็นทุนการศึกษามูลค่า 500 เหรียญสหรัฐ
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัทอินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ผมขอแสดงความยินดีกับนักเรียนไทย ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอีกครั้งในงานอินเทล ไอเซฟ ที่เป็นการแสดงความสามารถทางวิชาวิทยาศาสตร์ของนักประดิษฐ์ และผู้นำรุ่นเยาว์ที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์โดยในปีนี้มีผู้ประกวดจากทั่วโลกกว่า1,600 คน และหากดูจากความยอดเยี่ยมของผลงานที่นำมาแสดงในครั้งนี้ ผมมีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า ผลงานสร้างสรรค์ที่น่าตื่นเต้นด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะยิ่งทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นสำหรับวันนี้และอนาคต”
งานอินเทล ไอเซฟในปี 2010 นี้ มีการคัดเลือกนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ 1,611 คนจากประเทศต่างๆ 59 ประเทศ โดยนอกเหนือจากผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศที่กล่าวกันไปแล้ว ยังมีผู้ที่ได้รับรางวัลอื่นๆ อีกกว่า 600 คนที่ได้รับรางวัลสำหรับผลงานที่สร้างสรรค์และโดดเด่น ซึ่งรางวัลเหล่านี้แบ่งออกเป็น 19 สาขา โดยนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละสาขาจะได้รับรางวัลคนละ 8,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ มูลนิธิอินเทลยังมอบทุนการศึกษาแก่โรงเรียนของผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ อีกรางวัลละ 1,000 เหรียญสหรัฐ และสำนักงานตัวแทนการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติของอินเทลในท้องถิ่นที่นักเรียนเหล่านี้เป็นตัวแทนอยู่อีกรางวัลละ 1,000 เหรียญสหรัฐอีกด้วย
สมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ เป็นองค์กรการกุศลที่อุทิศตนเพื่อการวิจัย และการให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์สู่สาธารณชน โดยดูแลการจัดแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติมาตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2493
อลิซาเบธ มารินโคลา ประธานของสมาคมผลงานด้านเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะ กล่าวว่า “เราขอแสดงความยินดีต่อนักเรียนผู้ชนะ ที่มีแรงผลักดันและความอยากรู้อยากเห็นของการไขปัญหาด้านวิทยาศาสตร์ที่ท้าทายที่สุดในโลก ผลงานของนักเรียนที่มีความสามารถเหล่านี้ ถือเป็นแรงบันดาลใจสำหรับพวกเราทุกคน และเรามีความมั่นใจว่านักเรียนเหล่านี้จะยังคงทำงานเพื่อไขปัญหาต่างๆในอนาคตอีกหลายปีข้างหน้าอย่างแน่นอน” ผู้ที่เข้าร่วมงานอินเทลไอเซฟ 2010 นี้เป็นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจากการประกวดต่างๆ กว่า 539 งานทั่วโลก โครงงานของพวกเขาจะถูกพิจารณาและให้คะแนนจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับวุฒิดุษฏีบัณฑิต หรือเทียบเท่าและมีประสบการณ์การทำงานที่ช่ำชองในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์กว่า 1,000 คน รายชื่อของผู้เข้าประกวดทั้งหมดสามารถดูได้ที่ www.societyforscience.org/intelisef2010 ผู้เข้าร่วมงานอินเทลไอเซฟนี้ได้รับการสนุนร่วมกันระหว่างบริษัทอินเทล และมูลนิธิอินเทล รวมถึงหน่วยงานเอกชน องค์กรทางการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ อีกหลายหน่วยงาน หนึ่งในความพิเศษของงานในปีนี้คือการได้รับความสนับสนุนหลักจากบริษัทกูเกิล
สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอินเทล ไอเซฟ 2010ได้ที่ www.intel.com/pressroom/kits/events/isef2010 และติดตามอัพเดทกิจกรรมต่างๆ อย่างใกล้ชิดได้ที่ เฟสบุ๊ค www.facebook.com/pages/Inspired-by-Education/32855637280 และทวิตเตอร์ได้ที่ www.twitter.com/intelinspire. ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาคมเพื่อวิทยาศาสตร์และสาธารณะสามารถดูได้ที่ www.societyforscience.org.
รางวัลกอร์ดอน อี มัวร์
ปีนี้ถือเป็นปีแรกที่มีการแจกรางวัลกอร์ดอน อี มัวร์ให้แก่ผู้ชนะเลิศในงานอินเทล ไอเซฟ 2010 รางวัลนี้พร้อมทั้งทุนการศึกษามูลค่า 75,000 เหรียญสหรัฐจากมูลนิธิอินเทล ได้ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่กอร์ดอน มัวร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง รวมทั้งเป็นประธานและซีอีโอที่เกษียณอายุการทำงานไปแล้วของอินเทล มัวร์เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางจาก “กฎของมัวร์” ที่กลายเป็นเครื่องมือกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มานานกว่า 45 ปี ในการพัฒนาชิพให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปพร้อมๆกับลดต้นทุนของระบบอิเล็กทรอนิกส์ลง ถ้าหากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมัวร์ กรุณาเข้าไปดูได้ที่ www.intel.com/pressroom/kits/bios/moore.htm
โครงการเพื่อการศึกษาของอินเทล
ความมุ่งมั่นในด้านการพัฒนาการศึกษาของอินเทลมีขอบเขตมากกว่างานอินเทล ไอเซฟ โดยในช่วงเวลาเพียง 1 ทศวรรษที่ผ่านมาอินเทล ได้ลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และพนักงานของอินเทลทั่วโลกได้ทุ่มเทเวลากว่า 2.5 ล้านชั่วโมงเพื่อการพัฒนาการศึกษาในประเทศต่างๆ กว่า 50 ประเทศ ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมเพื่อการศึกษาจากอินเทลสามารถดูเพิ่มเติมได้ที่ www.intel.com/education และ blogs.intel.com/csr ผู้สนใจยังสามารถเข้าร่วมชุมชนเพื่อการแบ่งปันเรื่องราวที่จะเป็นเสียงที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการศึกษาทั่วโลกได้ที่ www.inspiredbyeducation.com.
เกี่ยวกับอินเทล
อินเทล เป็นผู้นำในด้านนวัตกรรมการประมวลผล รวมทั้งการออกแบบ และสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานการพัฒนาอุปกรณ์ประมวลผลระดับโลก ท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอินเทลได้ที่ www.intel.com/pressroom, www.intel.com/th, blogs.intel.com, ทวิตเตอร์ @Intelthailand และ เฟสบุ๊ค IntelThailand
Intel, Intel Atom และ Intel logo เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของ อินเทล คอร์ปอเรชั่น หรือสำนักงานสาขาในสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ขอสงวนสิทธิ์
* ชื่อและยี่ห้ออื่นอาจถูกอ้างอิงถึงโดยถือเป็นทรัพย์สินของชื่อยี่ห้อนั้นๆ
ติดต่อ:สุภารัตน์ โพธิวิจิตร คุณอรวรรณ ชื่นวิรัชสกุล บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด
บริษัท คาร์ล บายร์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ โทรศัพท์: (66 2) 648-6000 โทรศัพท์: (66 2) 627-3501
e-Mail: suparat.photivichit@intel.com e-Mail: orawan@carlbyoir.com.hk