กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
หน้าฝนนี้กุมารแพทย์ฝากเตือนคุณพ่อคุณแม่ อย่าละเลยการดูแลสุขภาพเจ้าตัวเล็ก หากลูกเป็นไข้หวัดอย่านิ่งนอนใจ ระวังอันตรายจากภาวะแทรกซ้อน พร้อมแนะหมั่นดูแลทำความสะอาดโพรงจมูกของลูก อย่าปล่อยให้มีน้ำมูกอุดตันสะสม เพราะอาจเกิดภาวะโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ง่าย โดยเฉพาะโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง (ไอพีดี) ที่พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอของเด็กเล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง ปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และการติดเชื้อในกระแสเลือด โดยเชื้อนี้จะสามารถแพร่เข้าสู่ร่างกายเด็กได้โดยทางละอองเสมหะ หรือน้ำมูก เวลาไอและจาม
นพ.วิทยา อัศววิเชียรจินดา กุมารแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อเข้าหน้าฝน สิ่งที่มักจะตามมาคือ อาการเจ็บป่วยของเจ้าตัวเล็ก โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด และไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กไม่สบายโอกาสที่จะติดเชื้ออื่นๆแทรกซ้อนตามมาก็มีได้ง่าย โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสที่มีความอันตรายมาก เนื่องจากเชื้อนี้มีอยู่ทั่วไปในโพรงจมูก และลำคอในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งบุคคลเหล่านี้อาจไม่มีอาการแต่เป็นพาหะได้ ซึ่งเชื้อนิวโมคอคคัสสามารถแพร่กระจายได้ง่ายเพียงการไอ และจาม
“ยิ่งเมื่อเด็กมีน้ำมูกอุดตันในโพรงจมูกแล้วปล่อยทิ้งไว้ ก็จะยิ่งมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย เพราะเมื่อโพรงจมูกอุดตันจะทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในโพรงจมูกนั้นออกมาไม่ได้ จึงทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค และเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรียได้ง่าย ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยคือเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรง หรือที่เรียกว่าโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง (ไอพีดี) โดยเด็กอาจมีอาการ ปอดบวม แก้วหูอักเสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งสถิติอัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็กที่เกิดจากโรคเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรงในประเทศไทย จะอยู่ที่ประมาณ 25-30 % หรือหากไม่เสียชีวิตก็อาจพิการ หูหนวก ตาบอด” นพ.วิทยา กล่าวและเสริมว่า
เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสนี้ จะอาศัยอยู่ในโพรงจมูก ลำคอ และระบบทางเดินหายใจโดยทั่วไปของคนเราอยู่แล้ว โดยเฉพาะเด็กเล็กจะพบเชื้อนี้มากถึงร้อยละ 50 แต่เชื้อนี้จะยังไม่ทำให้เกิดโรค จนกว่าเด็กจะมีร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นเมื่อเด็กไม่สบาย เยื่อบุจมูกและหลอดลมมักจะโดนทำลาย (อ่อนแอ?) ก็จะทำให้เชื้อดังกล่าวสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
กลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้จะเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เนื่องจากเด็กเล็กยังมีภูมิคุ้มกันน้อย และด้วยสรีระของเด็กเล็กระบบทางเดินหายใจไม่ว่าจะเป็นจมูก โพรงจมูก หลอดลม ก็จะค่อนข้างเล็ก หากไม่สบาย มีเสมหะ มีน้ำมูกอุดตันก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงมากขึ้น โดยแหล่งที่พบการติดเชื้อได้บ่อย คือ เนิร์สเซอรี่ หรือสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน เมื่อเด็กไม่สบายก็จะแพร่ได้เร็วและง่าย
หากพ่อแม่จำเป็นต้องส่งลูกไปอยู่เนิร์สเซอรรี่ ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันนิวโมคอคคัส (ไอพีดี) เนื่องจากการแยกแยะว่าเด็กติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียนั้นเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นหากป้องกันได้ก็จะดีกว่า ซึ่งปัจจุบันนับว่าเป็นโชคดีของเด็กไทยที่มีวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ นิวโมคอคคัสที่รุนแรง (ไอพีดี) ตัวใหม่ใช้แล้ว โดยสามารถฉีดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปีได้
อย่างไรก็ตาม แม้การฉีดวัคซีนจะเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุด แต่พ่อแม่ก็ควรดูแลสุขภาพลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ให้เด็กอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเท พักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่ดูแลเด็กควรล้างมือบ่อยๆ ถ้าเด็กมีน้ำมูกอุดตัน ควรทำความสะอาดรูจมูกสม่ำเสมอ โดยอาจใช้สำลีพันปลายไม้ชุบน้ำอุ่นหรือน้ำเกลือเช็ดจมูก ถ้ามีน้ำมูกมากอาจใช้ลูกยางแดงดูดออก และสังเกตอาการป่วยของเด็ก หากเด็กเป็นไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ซึม ก็มีโอกาสติดเชื้อ ไอพีดี ได้ ดังนั้นจึงควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะในเด็กเล็กเชื้อแบคทีเรียจะฟักตัวแค่ 2-3 วัน และจะลุกลามอย่างรวดเร็ว โดยอาการที่พอสังเกตได้ คือ ถ้าเด็กติดเชื้อไวรัส เด็กจะยังค่อนข้างอารมณ์ดี ยิ้มได้ กินได้ ก็อาจจะเป็นแค่ไข้หวัดธรรมดา แต่หากซึม ไข้ขึ้นสูงต่อเนื่อง ไม่ยอมดื่มนม ไม่เล่น ให้สันนิษฐานเบื้องต้นได้เลยว่าเด็กอาจะติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งส่วนใหญ่จะร้ายแรง ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองจึงไม่ควรนิ่งนอนใจเด็ดขาด” นพ.วิทยากล่าวสรุป
ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณบุษบา สุขบัติ (บุษ)
โทร.0-2718-3800 ต่อ 133 หรือ 081-483 7336
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net