ฟิทช์ให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคารกสิกรไทยที่ ‘AA-(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 2, 2010 07:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ที่ระดับ ‘AA-(tha)’ แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ของธนาคารกสิกรไทย (KBANK: ‘AA(tha)’/‘F1+(tha)’/Stable) จำนวนรวมไม่เกิน 7.5 พันล้านบาท โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวมีอายุ 10 ปี และสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดได้ อันดับเครดิตของ KBANK สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในด้านคุณภาพของสินทรัพย์และฐานะเงินกองทุนของธนาคาร รวมทั้งเครือข่ายการดำเนินงานและบริการภายในประเทศที่แข็งแกร่งในกลุ่มลูกค้าภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคธุรกิจขนาดใหญ่และกลุ่มลูกค้าบุคคลของธนาคาร ผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ในปี 2553 ของ KBANK อาจปรับตัวลดลง เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง แต่อย่างไรก็ตามอัตรากำไรที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร น่าจะสามารถช่วยรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ ผลการดำเนินงานในปี 2552 ของ KBANK ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะหดตัวลงอย่างมาก ธนาคารมีกำไรสุทธิลดลงเล็กน้อยเป็น 14.9 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมที่ 1.2% (ปี 2551 มีกำไรสุทธิ 15.3 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมที่ 1.4%) ในขณะที่กำไรก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของ KBANK ในปี 2552 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 30.5 พันล้านบาท แต่ธนาคารมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็น 9.4 พันล้านบาท หรือ 1.1% ของสินเชื่อ (ปี 2551 มีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 7.8 พันล้านบาท หรือ 0.9% ของสินเชื่อ) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2553 สินเชื่อของธนาคารเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 8.2% (อัตราเฉลี่ยทั้งปี) อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ของ KBANK ลดลงเป็น 3.7% ในปี 2552 จาก 4.1% ในปี 2551 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจที่มีผลตอบแทนต่ำ และแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง สำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2553 KBANK ประกาศผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 4.7 พันล้านบาท (ก่อนส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมที่ 1.4% (ไตรมาสที่ 1 ปี 2552 มีกำไรสุทธิ 3.8 พันล้านบาท และมีอัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์รวมที่ 1.2%) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากต้นทุนทางการเงินและการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับระดับเดิมที่ 3.8% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KBANK เพิ่มขึ้นเป็น 37.3 พันล้านบาท หรือ 4.0% ของสินเชื่อ ณ สิ้นปี 2552 (ปี 2551 มีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 33.9 พันล้านบาท หรือ 3.7% ของสินเชื่อ) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในช่วงปี 2552 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารลดลงเล็กน้อยเป็น 36.7 พันล้านบาท หรือ 3.8% ของสินเชื่อ อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ที่อาจปรับตัวแย่ลง เนื่องจากระยะเวลาในการเกิดผลกระทบต่อคุณภาพสินทรัพย์และสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ระดับการกันสำรองหนี้สูญของ KBANK ที่ 96.1% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น การระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KBANK ได้รับการสนับสนุนจากฐานเงินฝากที่แข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมอยู่ที่ 10.1% และ 15% ของสินทรัพย์เสี่ยง ณ สิ้น มีนาคม 2553 KBANK ซึ่งก่อตั้งในปี 2488 โดยตระกูลล่ำซำ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 16% (ณ สิ้นปี 2552) บริษัทลูกที่สำคัญของธนาคารประกอบธุรกิจบริหารกองทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจแฟคเตอริ่ง ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจประกัน KBANK ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารในบริษัทเมืองไทยประกันชีวิตขึ้นเป็น 38.3% ในปี 2552 จาก 7.5% ปัจจุบันหุ้นของ KBANK ได้มีการกระจายการถือหุ้นออกไปในวงกว้าง โดยนักลงทุนต่างประเทศ (ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน) มีสัดส่วนการถือหุ้นรวมกันที่ 49% อย่างไรก็ตามตระกูลล่ำซำยังคงมีตำแหน่งเป็นผู้บริหารในธนาคารและมีตัวแทนเป็นกรรมการในคณะกรรมการของธนาคาร การเปิดเผยข้อมูล: บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือหุ้น 100%) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (ซึ่งธนาคารกสิกรไทยถือหุ้นทางตรงและทางอ้อมรวม 38.3%) ถือหุ้นจำนวน 10% ของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ไม่มีผู้ถือหุ้นใดนอกเหนือจากบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัดแห่งประเทศอังกฤษที่มีส่วนในการดำเนินงานและการจัดอันดับเครดิตที่จัดโดยบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตหาได้ที่ www.fitchratings.com ในการจัดอันดับเครดิตของบริษัทฯ นี้ ฟิทช์ได้ใช้หลักเกณฑ์ตาม Global Financial Institution Criteria ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และ National Ratings-Methodology Update ลงวันที่ 18 ธันวาคม 2549 ติดต่อ พชร ศรายุทธ, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4761/4759 หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ ข้อมูลเพิ่มเติมหาได้ที่ www.fitchratings.com การใช้อันดับเครดิตที่จัดทำโดยฟิทช์เรทติ้งส์มีข้อจำกัดและขอบเขตการใช้ ซึ่งข้อจำกัดและขอบเขตของการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวสามารถหาได้จาก HTTP://FITCHRATINGS.COM/UNDERSTANDINGCREDITRATINGS นอกจากนี้คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฎข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ