กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--สสวท.
การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ซึ่งพัฒนาและส่งเสริมโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สอนให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน โดยลงไปเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมจริงด้วยตัวเอง เพื่อศึกษาความสัมพันธ์องค์ประกอบหลักของโลก ได้แก่ ดิน น้ำ บรรยากาศ และสิ่งมีชีวิต นักเรียนจะได้เรียนรู้และเข้าใจความสัมพันธ์องค์ประกอบต่างๆของโลกซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น เมื่อระบบใดระบบหนึ่งถูกกระทบย่อมส่งผลต่อระบบอื่นตามไปด้วย รวมทั้งปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก รวมถึงคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์
หลักสูตรดังกล่าวเน้นการเรียนรู้แบบองค์รวมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของ โลกทั้งระบบ ฝึกใช้กระบวนคิดแบบวิทยาศาสตร์ คิดเป็นเหตุเป็นผล รูปแบบการจัดกิจกรรมจะส่งเสริม ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ เพื่อสืบเสาะหาความรู้ในท้องถิ่น ผ่านการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์และชุมชม อย่างไรก็ตาม ครูผู้สอนสามารถนำกิจกรรมวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบไปประยุกต์ใช้จัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติมและสามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิชาต่างๆได้ เพื่อให้นักเรียนทำความเข้าใจปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในโลก รวมทั้งรับผิดชอบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของโลก เกิดความตระหนักและช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม
ขณะนี้ ได้มีโรงเรียนที่เข้าร่วมเครือข่ายโครงการ GLOBE ของ สสวท. นำแนวทางนี้ไปใช้ เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน ดังเช่น โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย นำโดย นายกวงจักร์ จันต๊ะคาด ผู้อำนวยการโรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) ตำบลธารทอง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ที่มีความรู้เข้าใจต่อ การจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนครูและนักเรียนให้จัดกิจกรรมดังกล่าวในโรงเรียน ซึ่งบัดนี้ความพยายามทุ่มเทของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งผล ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว
โรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) แห่งนี้ มีความโดดเด่นเรื่องทำวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ผลงานที่เด่นมาก คือ ผลงานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาดินในท้องถิ่น โดยมี ดร.รุ่งโรจน์ นิลทอง ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ และอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ โครงการ GLOBE ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
ผู้อำนวยการกวงจักร์ กล่าวว่า ตนในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา ได้ให้การสนับสนุนครูและนักเรียนในเรื่องของการทำกิจกรรม บางครั้งอาจต้องหางบประมาณเพิ่มเติมให้ ให้ขวัญและกำลังใจครู ประสานงานให้ครูและนักเรียนได้รับความสะดวกในการทำกิจกรรม เพราะกิจกรรมส่วนใหญ่ต้องออกไปสำรวจ หรือทำการวิจัยในชุมชนข้างนอกโรงเรียน บางครั้งต้องประสานกับท้องถิ่น
ชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม หาของป่าบ้าง ลักษณะเป็นเชิงเขาที่มีพื้นที่แตกต่างกันไป เช่น พื้นที่ใกล้ริมแม่น้ำมีลักษณะทางกายภาพแบบหนึ่ง ส่วนป่ามีลักษณะอีกแบบ แต่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเชิงเขา ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบ ก็คือ ป่าถูกบุกรุกไปมาก ถูกแผ้วถางทำการเกษตร เกิดปัญหาความชื้นในดิน พื้นที่แห้งแล้ง นานๆ ไปดินไม่ค่อยดี และในเรื่องของน้ำ แม่น้ำลาวที่ไหลผ่านมีความแห้งแล้งมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก
ทั้งนี้ โรงเรียนได้ส่งเสริมให้เด็ก ๆ เรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยพานักเรียนไปทำการวิจัย เช่น การไปศึกษาระบบนิเวศในป่า เช่น ป่าที่มีชาวบ้านไปเผาป่าเปรียบเทียบความแตกต่างกับแปลงที่ไม่ได้เผาป่า ซึ่งชาวบ้านเดิม ๆ เขามีความเชื่อและเห็นผลด้วยว่า เวลาที่เขาเผาป่าหน้าแล้ง พอต้นฤดูฝนจะมีเห็ดขึ้นเยอะ แต่ว่าต้นไม้ พรรณพืชที่ถูกเผาจะถูกทำลาย หรือสูญหายไปไม่คุ้มค่ากัน หรืออย่างในเรื่องของดิน เห็นคุณครูพานักเรียนไปวิจัยเกี่ยวกับการปลูกพืชที่มีผลเกี่ยวข้องกับดิน เช่น ไปศึกษาการปลูกแครอท ที่ได้ผลผลิตดี พื้นที่ใด จะปรับปรุงดินอย่างไร เพื่อให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ผู้อำนวยการ กล่าวต่อไปว่าโรงเรียนธารทองวิทยา (ป่ารวก) ได้นำหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ไปจัดการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษา หลักสูตรเพิ่มเติม ในชั่วโมงเรียน และท้ายชั่วโมงเรียนจะมีกิจกรรมซึ่งจะให้เวลาให้เด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบมากขึ้น สังเกตพบว่านักเรียนชอบเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น มีความสนุกสนานในการเรียน ผู้ที่เรียนวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบไป พอจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว หลายคนมุ่งหวังที่จะไปเรียนต่อสายวิทยาศาสตร์ “ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ เมื่อเทียบกับโรงเรียนระดับเดียวกัน หรือโรงเรียนขยายโอกาส ฯ แห่งอื่น ๆ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์จะสูงกว่า เนื่องจากว่ามีนักเรียนทั้งกลุ่มเก่ง และกลุ่มไม่เก่ง แต่เมื่อเด็กทุก ๆคนให้ความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ เด็กก็จะได้ความรู้ไม่แตกต่างกันมาก เวลาคิดค่าเฉลี่ยออกมา ค่าเฉลี่ยจะค่อนข้างสูง”
ตอนนี้ถ้าโรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบให้กระจายไปทั่ว ก็จะเป็นกระแสสังคมอย่างหนึ่ง ว่าจะต้องตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้ จึงจะต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กในโรงเรียน ไปจนถึงผู้ใหญ่
ผู้สนใจ เข้าไปดูรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ GLOBE ได้ในเว็บไซต์ http://globethailand.ipst.ac.th หรือโทรศัพท์สอบถามที่ 0-239-4021 ต่อ 1121, 1124 และ 1128