เฮ้าส์แวร์ 2000 ผุดกรีนไอเดีย “เป็นผู้ให้” ทำผลิตภัณฑ์ “World I Love : แด่น้องผู้พิการ”

ข่าวทั่วไป Wednesday June 2, 2010 12:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--iTAP โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(iTAP) บริษัท เฮ้าส์แวร์ 2000 จำกัด เข้าร่วม iTAP ในโครงการโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ได้ออกแบบผลงานกรีนโปรดักส์ ภายใต้แนวความคิด “World I Love” โดยได้ออกแบบและจัดทำ “เก้าอี้ C-Share เพื่อเด็กพิการ” และ “เครื่องครัวสำหรับคนตาบอดหรือสายตาเลือนลาง” ย้ำไอเดียนี้เป็นการนำเศษไม้ที่เหลือจากการผลิตมาใช้ด้วยความตั้งใจที่จะทำประโยชน์กลับคืนสู่สังคม และเพื่อให้ผลงานนี้สามารถช่วยพัฒนาทักษะต่างๆสำหรับผู้พิการต่อไป ความตื่นตัวเรื่องโลกร้อนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลิตภัณฑ์สีเขียวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย กระแสการร่วมดูแลรักษาโลกไม่เพียงออกมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว และคงไม่ใช่การนำเพียงสีเขียวมาทาผลิตภัณฑ์ต่างๆ แต่รวมถึงแนวคิดตั้งแต่การออกแบบ กระบวนการผลิตในโรงงาน รวมทั้งการนำเศษวัสดุเหลือภายในโรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการโรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจาก iTAP (โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย) สวทช. หนึ่งในความตั้งใจเพื่อหล่อหลอมแนวคิดเหล่านี้ให้ผู้ผลิตกลายเป็นผู้ให้คืนสู่สังคม โดยนำเศษเหลือใช้อย่างเศษไม้ของ บริษัท เฮ้าส์แวร์ 2000 จำกัด มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้าน นางอรพินท์ บรรเจิดรุ่งขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮ้าส์แวร์ 2000 จำกัด กล่าวถึงความเป็นมาของบริษัทก่อนเข้าร่วมโครงการฯว่า บริษัทก่อตั้งเมื่อปีค.ศ. 1998 โดยมีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัท และมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเอง คือ บริษัท ทริปเบิ้ล ดับบลิว อินดัสทรี จำกัด ตั้งอยู่ที่จ.สิงห์บุรี โดยเป็นโรงงานที่ได้รับ BOI จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การดำเนินงานของบริษัทที่ผ่านมาจะเน้นผลิตภัณฑ์ของใช้ภายในบ้านประเภทอุปกรณ์ภาชนะภายในครัว และเน้นการส่งออกเป็นหลัก โดยในช่วงแรกมีการส่งออก 100% จนกระทั่งประมาณสองปีที่ผ่านมาเริ่มจำหน่ายสินค้าในประเทศ ภายใต้แบรนด์ MYE (ไม้)โดยมีโลโก้เป็นรูปต้นไม้ ซึ่งเน้นการทำงานเรื่องกรีนโปรดักส์และมีสัดส่วนประมาณ 3-5 % จุดเด่นของบริษัทฯ คือ เน้นการออกแบบและคุณภาพโดยมีทีมดีไซน์เป็นของตัวเองและนำวัตถุดิบในประเทศ คือ ไม้ยางพารา มาใช้เป็นหลัก เนื่องจากเป็นไม้ที่มีปริมาณมากอีกทั้งยังเป็นการนำวัตถุดิบมาใช้อย่างคุ้มค่าแทนการเผาหรือโค่นทิ้ง ราคาถูกกว่าไม้ชนิดอื่นและยังเป็นไม้สีอ่อนทำให้นำไปสร้างสีสันเพิ่มเติมได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีวัตถุดิบรองลงไป แต่ช่วงหลังทวีความสำคัญมากขึ้น ได้แก่ ไม้จามจุรี ซึ่งเป็นไม้ที่มีลวดลายชัดเจนสวยงาม อีกทั้งยังมีลักษณะคล้ายไม้จากต่างประเทศคือ ไม้วอลนัท ดังนั้นจึงเป็นอีกทางเลือกของการสรรหาวัตถุดิบ เนื่องจากขณะนี้ไม้จามจุรีเป็นที่นิยมมากโดยความนิยมเหล่านี้จะสลับสับเปลี่ยนกันไปตามความต้องการของตลาด แม้ธุรกิจกำลังไปได้ดี บริษัทก็ยังประสบกับปัญหาวัตถุดิบ “ชาวสวนเลื่อนการตัดไม้ยางเนื่องจากราคายางสูงขึ้น ทำให้วัตถุดิบในประเทศขาดแคลน อีกทั้งยังมีการส่งออกไม้ยางไปยังประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลกทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต้องขาดวัตถุดิบ แม้บางประเทศอย่างมาเลเซียก็มีการห้ามส่งไม้ยางออกนอกประเทศเพื่อให้อุตสาหกรรมปลายน้ำต่อยอดได้มากขึ้น ดังนั้นหากภาครัฐเล็งเห็นความสำคัญนี้จะทำให้อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” ด้านตลาด กรรมการผู้จัดการเฮ้าส์แวร์ 2000 กล่าวว่า เริ่มแรกบริษัทยังเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) แต่ทำงานมากกว่านั้นคือ การช่วยลูกค้าคิดแผนการตลาดไปด้วย “สมมุติว่า ลูกค้าต้องการขายสินค้าจำนวน 20,000 ชิ้นให้จบภายใน 5 สัปดาห์ เราต้องช่วยคิดว่า ลูกค้าเขาเป็นใคร ใครที่จะเดินเข้ามาในร้าน และราคาที่เหมาะสมเพื่อจะขายได้รวดเร็ว ดีไซน์ควรเป็นอย่างไร ต้องช่วยคิดเป็นแพคเกจเลย ณ ตอนนั้นบริษัทที่จะมานั่งทำงานแบบนี้ให้ลูกค้าแทบจะไม่มี” โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นทั้งร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าต่างๆและผู้ซื้อต่างประเทศเหล่านี้จะสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในการทำงานของคนงาน กระแสเรื่องกรีน และการที่บริษัทสามารถปฎิบัติตนได้สอดคล้องกับการทำงานตามหลักสากล ผลิตภัณฑ์จาก เฮ้าส์ แวร์ 2000 ยังได้รับมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001: และเป็นรายแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในธุรกิจผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือนจากไม้ที่ได้รับการรับรอง BRC (British Retail Consortium) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เกี่ยวกับสินค้าเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยสมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่น และยังเป็นใบเบิกทางที่สร้างความยั่งยืนให้กับการทำงานอีกด้วย ผู้บริหาร เฮ้าส์แวร์ 2000 เปิดเผยกลยุทธ์การทำตลาด อีกว่า “ที่ผ่านมาจะวางสินค้าในตลาดระดับกลางขึ้นไปถึงระดับบนมาตลอด เพราะรู้สึกว่าเราอยากใช้สินค้าแบบไหนก็อยากให้ลูกค้าได้ใช้สินค้าแบบนั้นด้วย และคิดเสมอว่า มนุษย์ต้องมีการพัฒนา สินค้าจึงต้องดีขึ้น เพื่อกล้าพูดว่า เราจะนำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า การทำตลาดต่างประเทศก็ไม่ควรปิดตัวเองที่ตลาดใดตลาดหนึ่งเพราะเวลามีปัญหาจะโยกหรือปรับตัวเองค่อนข้างยาก ไม่ใช่เฉพาะบริษัท แต่ทั้งตัวพนักงาน และวัฒนธรรมการทำงาน ก็จะเคยชิน เราจึงพยายามฝึกพนักงานทุกคนให้เริ่มต้นทำอะไรที่ยากและหลากหลาย ยามใดที่เศรษฐกิจมีปัญหาจึงไม่ยากที่จะปรับตัว” ขณะนี้ตลาดหลัก ได้แก่ อังกฤษ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ รวมทั้งเอเซีย ทำให้มีลูกค้ากระจายเกือบทั่วโลก แม้จะมีจำนวนการสั่งซื้อต่อรายน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา แต่ปลอดภัยกว่าการต้องไปแข่งขันกับรายใหญ่ ซึ่งต้องรับออร์เดอร์เป็นจำนวนมาก หากเกิดวิกฤตก็ไม่สามารถปรับตัวทัน ด้านกระบวนการผลิตสินค้า กรรมการผู้จัดการเฮ้าส์แวร์ 2000 กล่าวว่า สินค้าแต่ละชิ้นจะถูกคัดสรรลายไม้ที่มีความใกล้เคียงกัน จึงทำให้ดูเหมือนเป็นไม้ชิ้นเดียวกัน และนำมาประสานกันจนมองแทบไม่ออก “กระบวนการผลิตจะพยายามออกแบบสินค้าให้ลงหน้าไม้หรือลงความยาวไม้และเสียเศษไม้น้อยที่สุด เกิดความคุ้มค่าในการใช้ไม้ให้มากที่สุด ถ้าเราไม่คิดเลยจะมีเศษไม้เหลือเป็นจำนวนมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเศษไม้เหลือ” การเข้าร่วมกับโครงการ iTAP จึงเกิดจากความต้องการที่จะนำเศษเหลือไม้จากโรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้บริษัทยังได้เข้าร่วมกับโครงการต่างๆของ iTAP มาตั้งแต่ปี 2549 (โครงการ Mini MBA) ก่อนจะนำมาสู่การต่อยอดในโครงการ Green Furniture Factory : โรงงานเฟอร์นิเจอร์สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้กระบวนการคิดด้านธุรกิจแบบครบวงจร รวมทั้งแนวคิดเรื่องการออกแบบ โดยมี อาจารย์ภัทรพล จันทร์คำ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญ iTAP เข้ามาแนะนำการทำงาน นายวิโรจน์ บรรเจิดรุ่งขจร ประธานบริษัทฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อาจารย์เข้ามาแนะนำวิธีคิดด้านการออกแบบ การคำนึงถึงการใช้งานซึ่งก็สอดรับกับกระบวนการทำงานของพนักงานที่นี่ เนื่องจากถูกฝึกให้คิดมาตลอด ทำให้ต้นแบบที่นำไปเสนออาจารย์ผ่านไปด้วยดี จนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ World I Love : อุปกรณ์สำหรับเด็กพิการ โดยโครงการนี้ได้ เก้าอี้ C-Share ซึ่งคำว่า Share ของเราคือ เพื่อสังคม ส่วน C มาจากคำว่า Chair Children Color Congenital Limb deficiency ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้เป็นเก้าอี้สำหรับฝึกพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กซึ่งเป็นผู้พิการทางกาย รวมถึงยังเป็นของเล่นสำหรับเด็กที่มีร่างกายปกติได้ด้วย” โดยได้โจทย์จากการเข้าไปดูงานที่ โรงเรียนศรีสังวาลย์ จ.นนทบุรี ซึ่งมีน้องผู้พิการเกี่ยวกับเรื่องของกล้ามเนื้อหลัง มือและขา ซึ่งต้องฝึกนั่งและขยับกล้ามเนื้อในส่วนต่างๆ มาเป็นข้อมูลในการออกแบบทำเป็นเก้าอี้ที่สามารถถอดประกอบได้ ช่วยฝึกกายภาพบำบัด เพื่อไม่ให้น้องๆเหล่านี้ต้องกลายเป็นภาระแก่สังคมและคนรอบข้าง อย่างเด็กบางคนกระดูกสันหลังคด เดิมทางโรงเรียนต้องทำอุปกรณ์ง่ายๆขึ้นมาใช้เอง แต่เมื่อมีเก้าอี้ดังกล่าว ทำให้สามารถช่วยพัฒนาการด้านต่างๆของเด็กได้ดีขึ้น เช่น พัฒนาการด้านการแยกสี การทรงตัว อีกทั้งยังปลอดภัยต่อการใช้งาน ผลิตภัณฑ์ต้นแบบดังกล่าวยังเป็นการใช้ประโยชน์จากเศษไม้เหลือใช้ภายในโรงงาน โดยออกแบบเพื่อความเหมาะสมสำหรับเด็กช่วงอายุ 6-12 ปี และสามารถถอดประกอบได้หลายแบบ นอกจากเป็นเก้าอี้ ยังเป็นกล่องเก็บของเล่น หรือแม้กระทั่งแปลงร่างเป็นโต๊ะเขียนหนังสือ ฯลฯ ด้านราคาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ประธานบริษัทฯกล่าวว่า “เนื่องจากต้นทุนราคาบางอย่างยังไม่ชัดเจนหรือแทบไม่มี เนื่องจากเป็นเศษไม้ หากจะมีก็คือต้นทุนของเบาะที่ใช้ในการหุ้ม จึงยังไม่สามารถบอกต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ ล่าสุดก็มีอาจารย์จากวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ชวนไปออกงานแฟร์เกี่ยวกับสินค้าเพื่อคนพิการ แต่บริษัทยังไม่ได้คิดเชิงพาณิชย์ และมีโครงการจะบริจาคผลิตภัณฑ์ต้นแบบนี้ให้กับมูลนิธิต่างๆที่สนใจ” นอกจากนี้ยังมี ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ World I Love : เครื่องครัวสำหรับคนตาบอดหรือสายตาเลือนลาง ที่บริษัทฯได้ออกแบบมาเพื่อให้สะดวกแก่การใช้งานซึ่งหากดูภายนอกจะเหมือนเครื่องครัวทั่วไป โดยเริ่มจากการเข้าไปทำวิจัยด้วยการพูดคุย ศึกษาพฤติกรรมการใช้งานจริงและนำไปให้นักเรียนผู้พิการทางสายตาที่วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดลได้นำไปทดสอบ “อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถถอดแยกประกอบได้เช่นกัน โดยออกแบบเป็นเขียงสอดรับกับการวางจาน รวมทั้งเป็นที่วางโถสำหรับใส่เครื่องปรุงและทำเป็นสัญลักษณ์ต่างๆเพื่อให้ผู้พิการทางสายตาสามารถจับต้องและจดจำได้ โดยคนสายตาดีทั่วไปก็สามารถใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้เช่นกัน สำหรับการออกแบบจะใช้ไม้หลายชนิดมาอัดประสานกัน และใช้กาวที่ปลอดภัยสำหรับอาหารมาเป็นส่วนประกอบ” ด้านแนวทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อผู้พิการ ประธานบริษัทฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการโรงงานสีเขียวฯนี้ยังไม่ได้เน้นผลทางการตลาด เพียงแต่ต้องการนำเศษไม้มาออกแบบเพื่อให้มีคุณค่าและประโยชน์มากขึ้น และมองว่าเป็นผลตอบแทนทางใจเพื่อสังคมมากกว่า แต่ด้วยผลตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ปกครอง องค์กรมูลนิธิต่างๆที่ได้เห็นผลงานและการนำผลงานดังกล่าวไปแสดงในงาน Thailand International Furniture Fair 2010 (เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา) จึงวางแผนว่าอาจมีจำหน่ายในราคาประหยัดผ่านเว็บไซต์ของบริษัทฯในอนาคต ด้านการทำงานร่วมกับ iTAP “มองว่าเป็นความตั้งใจเพื่อใช้สิ่งที่เรามีความรู้และความชำนาญอยู่แล้ว และนำผลงานเหล่านี้ไปช่วยเหลือสังคมเพื่อให้ผู้พิการได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์ต่างๆนำไปสู่การสร้างทักษะการดำเนินชีวิต ทัดเทียมกับคนทั่วไป อีกทั้งบริษัทฯยังได้ทักษะความคิดในการออกแบบ จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพกลับคืนสู่สังคม” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมโครงการ iTAP โทร.02-564 -7000 ต่อ 1368 และ 1381

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ