กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--TCELS
TCELS หนุน มอ. วิจัยสาร “สกัดน้ำยางพารา” ผลิตครีมเปลี่ยนสีผิวให้เป็นสีแทน และครีมลดรอยเหี่ยวย่น คาดจะทดลองในอีก 3 เดือน และจะเห็นผลใน 1 ปี หากสำเร็จ มั่นใจเจาะตลาดยุโรป อเมริกา เอเชีย ได้แน่ ! ขณะนี้สหรัฐ เสือปืนไว ทาบทามขอร่วมทุนแล้ว
ที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย หรือ TCELS หน่วยงานภายใต้การดูแลของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD จัดให้มีพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือ ระหว่าง รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และ พลเรือเอก ฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการ OKMD เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพน้ำยางพารา สำหรับผลิตเป็นชีวเคมีใช้ในเครื่องสำอางประเภทมูลค่าสูง
พลเรือเอก ฐนิธ กิตติอำพน ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวว่า ในปีนี้ OKMD ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จ.สงขลา ในการสนับสนุนทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลาฯ ซึ่งมี ศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล เป็นหัวหน้าทีม ในการศึกษาวิจัยสารสกัดจากยางพารา ซึ่งเป็นสารที่ได้จากธรรมชาติ มีความปลอดภัย เพื่อผลิตเป็นเครื่องสำอาง 2 ชนิด คือ ครีมเปลี่ยนสีผิวขาวให้เป็นผิวสีแทน โดยไม่ต้องอาบแดด เพราะขณะนี้ทั่วโลกประสบปัญหาโลกร้อน รังสียูวีแรงมาก ซึ่งเสี่ยงเกิดมะเร็งผิวหนัง 2.ครีมลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ในสุภาพบุรุษและสตรีที่อายุมาก ให้ดูอ่อนกว่าวัย เนื่องจากขณะนี้ทีมนักวิจัยดังกล่าวได้ค้นพบว่าในน้ำยางพารา ที่เคยนำมาสกัด และผลิตเป็นครีมหน้าขาว จนประสบผลสำเร็จในเชิงธุรกิจไปแล้วในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ยังมีสารเคมีอีกหลายตัวที่นำมาต่อยอดเชิงธุรกิจ ใช้ประโยชน์ในการผลิตเวชสำอาง ซึ่งครีมทั้ง 2 ชนิด ที่เป็นที่ต้องการของท้องตลาดเป็นอย่างสูง โดยจะใช้เวลาศึกษา 1 ปี
พล.ร.อ.ฐนิธ กล่าวต่ออีกว่า OKMD มีนโยบายหลักในการสนับสนุนต่อยอดงานศึกษาวิจัยทางวิชาการในประเทศ ให้ถึงขั้นเกิดเป็นธุรกิจ เพื่อการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลก ขณะนี้ผลงานการศึกษาต่างๆ ที่ TCELS ให้การสนับสนุน ได้รับการคัดเลือกจากวารสาร The Scientist ซึ่งเป็นวารสารด้านวิทยาศาสตร์ระดับโลก ให้ลงผลงานของหน่วยงานในฉบับพิเศษเดือนพฤษภาคม ซึ่งแจกให้กับผู้เข้าร่วมงานกว่า 20,000 คนในการประชุมนานาชาติด้านชิววิทยา ประจำปี 2553 ( Bio International 2010 ) ที่จัดในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้ และเป็นที่น่ายินดีว่านักลงทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกาสนใจโครงการวิจัยสารสกัดจากยางพารา และ เสนอตัวขอร่วมทุนกับ TCELS ซึ่งจะได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือในรายละเอียดต่อไป
ด้านรศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า งานวิจัยสารสกัดจากยางพารานี้ หากสำเร็จ จะถือว่าเป็นผลงานชิ้นแรก และเป็นชิ้นโบว์แดงของประเทศไทย แสดงถึงศักยภาพนักวิจัยไทย ที่สามารถพัฒนาสารจากธรรมชาติตามมาตรฐานสากลว่าปลอดภัย และมีมากในท้องถิ่น มาใช้ในเวชสำอางแข่งขันในระดับโลกได้ สามารถนำรายได้สู่ประเทศไทยอย่างมหาศาล ล่าสุดตลาดเครื่องสำอางประเภทต่อต้านความแก่ (Anti aging) ในตลาดโลก มีมูลค่าประมาณ 65,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.3 ล้านล้านบาทต่อปี ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์ย้อมสีผิว จำพวกแทนนิ่ง (Tanning Lotion) ครีมเปลี่ยนสีผิวจากขาวเป็นสีน้ำตาล มูลค่าปีละ 50,000 ล้านบาท
ด้าน ศ.ดร.รพีพรรณ วิทิตสุวรรณกุล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยสารสกัดจากยางพารา กล่าวว่า ทีมงานวิจัยได้ค้นพบว่าในน้ำยางพาราดิบ นอกจากมีสารสกัดเอชบี (Hb Extract) ซึ่งมีคุณสมบัติทำให้ผิวขาว ผิวมีสุขภาพดีแล้ว ในน้ำยางยังมีสาร 3 ชนิด ได้แก่
1. เบต้ากลูแคน (Beta glucan) ที่ละลายน้ำได้ มีฤทธิ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบภูมิคุ้มกันให้เซลส์ผิว ช่วยกระตุ้นการสร้างใยคอลลาเจน (collagen) ในเซลล์ได้ เมื่อใช้ทาที่ผิวหนัง สารจะสามารถซึมผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์เข้าสู่เซลล์ผิวชั้นใน สามารถลดริ้วรอยเหี่ยวย่น ช่วยให้ดูอ่อนกว่าวัย ชะลอความแก่ได้
2. สารเมทิลไทโออดีโนซีน หรือสารเอ็มทีเอ (MTA:Methylthioadenosine) และ 3.สารคิวบราซทอล (Quebrachitol) ที่ได้จากขั้นตอนการสกัดสารให้บริสุทธิ์ ซึ่งสารคิวบราชิตอลนี้ ปัจจุบันมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในรูปของสารบริสุทธิ์ ใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับวิจัยพัฒนาตัวยาใหม่ในการรักษามะเร็ง ใช้เป็นยาช่วยรักษาแผลในกระเพาะอาหารบ้างแล้ว รวมทั้งใช้ในเวชสำอางเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง ส่วนปัจจุบันสารเอ็มทีเอ มีการใช้ในเวชสำอางประเภทบำรุงผิว ปรับสีผิวและเส้นผมให้เข้มขึ้น ดูเปล่งปลั่งมีชีวิตชีวา โดยสารเอ็มทีเอจะไปเพิ่มการสร้างสีน้ำตาลหรือดีเอชไอซีเอ-เมลานิน( DHICA-melanin) ทำให้ผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือสีแทนไป ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของชาวผิวขาวเช่น ยุโรป อเมริกา แคนาดา หรือในเอเชียบางประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลี จึงนิยมการอาบแดดเพื่อให้ผิวเป็นสีน้ำตาล เพื่อไปงานปาร์ตี้ ใช้ในการแสดง หรือแม้แต่การใช้ในชีวิตประจำวัน
แต่เนื่องจากรังสียูวีจากแสงแดดเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนัง ดังนั้นจึงหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผิวจำพวกแทนนิ่งโลชั่นแทน โดยเฉพาะการพัฒนาโลชั่นเปลี่ยนสีผิวนี้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 3 เดือนจากนั้นจะผลิตมาเพื่อทดลองในสัตว์ทดลองหรืออาสาสมัครกลุ่มเล็กๆ ก่อนและเพิ่มจำนวนตามมาตรฐานสากลของการวิจัยต่อไป คาดว่า ผลวิจัยจะเสร็จสมบูรณ์แบบภายในเดือนมิถุนายน 2554 ศ.ดร.รพีพรรณกล่าวในตอนท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 026445499 tcels