กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--สนพ.
สนพ.ขยายเครือข่ายประหยัดพลังงานสู่ชุมชน 5 หมู่บ้าน ภายใต้โครงการ “บูรณาการองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน” ชี้ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของชุมชนได้ถึง 218,000 บาทต่อปี
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาด้านพลังงานของประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในยุทธศาสตร์ คือ การส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ด้วยการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าและมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน
โดยในปี 2549 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดโครงการนำร่องการบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการและอนุรักษ์พลังงานเป็นผู้ดำเนินการจัดทำโครงการนำร่อง โดยคัดเลือก 5 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนต้นแบบ 1 ชุมชน นำร่องและทดลองใช้กระบวนการที่โครงการฯ ได้วางรูปแบบไว้ ได้แก่ บ้านสามขา จ.ลำปาง ชุมชนต้นแบบขยายผล 4 ชุมชน ได้แก่ บ้านดง บ้านกิ่วท่ากลาง-ท่าใต้ จ.ลำปาง บ้านใหม่กาดเหนือ จ.ลำพูน บ้านสันทรายพัฒนา จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่จะนำผลงานจากชุมชนต้นแบบมาขยายผลเพื่อสร้างความแตกต่างและให้เป็นตัวอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ ในประเทศต่อไป
โดยหลังจากดำเนินโครงการพบว่า ทั้ง 5 ชุมชนมีการใช้ไฟฟ้าลดลงรวม 5,349 หน่วยต่อเดือน คิดเป็น 11% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ * 218,000 บาทต่อปี ขณะที่ในปี 2547-2548 ต้องเสียค่าไฟฟ้าประมาณ 2-4 แสนบาทต่อปี อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบการลดลงของค่าไฟฟ้าต่อหลังคาเรือน พบว่า มีการใช้ไฟฟ้าลดลงเฉลี่ย 14.2 หน่วยต่อหลังคาเรือนต่อเดือน
ด้านนายจำนงค์ จันทร์จอม พ่อหลวงหมู่บ้านสามขา กล่าวว่า โครงการฯ ได้ให้ประโยชน์กับชุมชน ทำให้ชาวบ้านได้ความรู้เกี่ยวกับพลังงาน รู้ว่าทำแล้วได้อะไร ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านหมู่บ้านสามขาได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงาน รู้จักประหยัด รู้คุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ทั้งยังสามารถพัฒนาพลังงานทดแทนจากสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน อาทิ การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ เพื่อนำมาใช้แทนก๊าซหุงต้มที่มีราคาแพงขึ้น นอกจากนั้น ขณะนี้หมู่บ้านสามขามีแผนต่อยอดโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง โดยการนำค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานของแต่ละครอบครัวมาใส่ไว้ในบัญชีครัวเรือน เพื่อจะให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นการใช้จ่ายในส่วนนี้
นายวีระพล กล่าวอีกว่า โครงการนำร่องนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวด้านการอนุรักษ์พลังงาน และ สนพ.จะยังคงจัดโครงการบูรณาการองค์ความรู้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานที่ยั่งยืนได้อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการดังกล่าวนอกจากจะช่วยให้ชุมชนเกิดความตื่นตัวในการอนุรักษ์พลังงานแล้ว ยังช่วยทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลังงานพื้นฐานที่มีอยู่ในครัวเรือนและชุมชน ผ่านการเรียนรู้จากค่ายความคิดการอนุรักษ์พลังงาน การติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานด้วยการสร้างเตาประหยัดพลังงานบ่อก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ซึ่งวิธีดังกล่าวจะช่วยให้ชุมชนใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มั่นคง และยั่งยืน
หมายเหตุ * อัตราค่าไฟฟ้าที่ 3.4 บาทต่อหน่วย