“สันติสุข” ชายแดนใต้ “โจทย์” ที่ต้องเปลี่ยนคำถาม?

ข่าวทั่วไป Wednesday January 24, 2007 18:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--สกว.
ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ไม่เพียงส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ตกอยู่ภายใต้ความกลัว หากแต่ยังก่อให้เกิดความรู้สึกแบ่งพวก แยกกลุ่ม ระหว่างประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามและประชาชนที่นับถือศาสนาพุทธมากขึ้นอีกด้วย ทั้งมีแนวโน้มว่า ทั้งสองกลุ่มจะเกิดความเกลียดชัง อันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรงทำร้ายซึ่งกันและกันตามมา...
ในวงเสวนาเล็กๆ ระหว่างชาวบ้านทั้งคนพุทธและคนมุสลิม นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งสื่อมวลชน ภายใต้หัวเรื่อง “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติในสามจังหวัด ชายแดนภาคใต้” ซึ่งจัดโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันข่าวอิศราฯ ,ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ร่วมกันทบทวนสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และร่วมกันคิดหาแนวทางป้องกันไม่ให้พี่น้องไทยพุทธและมุสลิมเกิดความแตกแยก และให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขดังที่เคยเป็นมา
ผู้ร่วมเสวนาต่างสะท้อนความรู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์ปัญหาค่อนข้างมาก โต๊ะอิหม่ามท่านหนึ่งได้ร้องขอต่อสื่อมวลชนที่ร่วมการเสวนาว่า
“ในการนำเสนอข่าว กรุณาอย่าได้นำเอาศาสนามาเป็นประเด็นของความขัดแย้ง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะสร้างความแตกแยกระหว่างคนไทยพุทธ กับคนมุสลิมจากกลุ่มแนวร่วมที่แทรกซึมในเกือบทุกชุมชน โดยมีการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจผิดด้วยการปล่อยข่าวว่า คนมุสลิมทำร้ายคนพุทธ และมีการตอบโต้จากคนพุทธ โดยแนวร่วมที่แทรกตัวอยู่ในแต่ละชุมชน หากชาวบ้านเชื่อข่าวก็จะนำไปสู่ การเกิดความเคียดแค้น ชิงชัง และตอบโต้ซึ่งกันและกันได้ เพราะสำหรับคนพุทธ การเห็นพระสงฆ์โดนยิง ก็รับไม่ได้ สำหรับคนมุสลิม การเห็นผู้นำศาสนาโดนยิงตาย ก็รับไม่ได้เช่นกัน...”
ท่านผู้นำศาสนาชี้ให้เห็นถึง “จุดเปราะบาง” ที่กลุ่มผู้ก่อการนำมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจผิด หวาดระแวงและท้ายที่สุดคือ เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกัน
กลุ่มชาวบ้านจากชุมชนหนึ่ง ในอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นชุมชนไทยพุทธที่อยู่ท่ามกลางชุมชนมุสลิมมานานกว่า 100 ปี ความสัมพันธุ์ระหว่างพี่น้องทั้งสองศาสนาค่อนข้างแนบแน่นฉันท์เครือญาติ โดยผู้นำชุมชนสตรีท่านหนึ่งสะท้อนภาพความสัมพันธ์นับแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า...
“มีอะไรก็ช่วยเหลือแบ่งปันกันตลอด เช่น เวลาเราทำบุญข้าวใหม่ เราก็จะเอาข้าวไปให้ผู้หลัก ผู้ใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม หรือเวลาเรามีงานพี่น้องมุสลิมก็จะมาช่วยงาน เวลาเขามีงานเราก็ไปเหมือนพี่เหมือนน้อง ปัจจุบัน เรามีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กส่วนใหญ่ เป็นมุสลิม เราก็จัดหาแม่ครัวมุสลิมทำอาหารให้เด็กๆ ดูแลเขา พ่อ แม่ เขาก็วางใจเรา พาลูกมาฝากให้เราดูแล...”
อย่างไร ณ ขณะนี้ “สายสัมพันธ์” ของพี่น้องชุมชนไทยพุทธ-มุสลิมทั้งสองชุมชนกำลังถูกกลุ่มผู้ก่อการเข้ามา “กระทำการ” บางอย่าง
“เมื่อปลายเดือนธันวาคม ที่ผ่านมามีคุณลุงคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ กลับจากไปหาปลา ขี่มอเตอร์ไซค์กลับมาโดนยิงบาดเจ็บสาหัส เหตุเกิดในเขตชุมชนมุสลิม คนร้ายซึ่งเป็นวัยรุ่น ไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ทุกคนยืนยันว่าไม่ใช่คนในสองชุมชนของพวกเรา...”
การเลือกลงมือยิงคนไทยพุทธ ในเขตชุมชนมุสลิม เช่นนี้ ชาวบ้านต่างเชื่อกันว่า นี่คือ ความพยายามที่จะสร้างความแตกแยก เพื่อแบ่งพวก
“...เพราะในบาเจาะ ก็มีแถวนี้แหละที่เขายังเจาะเข้ามาไม่ได้...ที่อื่นเขาจัดการได้แล้ว และตอนนี้เขาก็คงจะพยายาม...” ผู้นำชุมชนมุสลิมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
“...ระหว่างชุมชนไม่เป็นไรพราะพวกเรามีความสัมพันธุ์กันเหนียวแน่น อยู่ร่วมกันมานาน รู้จักกันหมด ไม่เป็นไร เพราะใครเข้ามาเรารู้ ทางหมู่บ้านก็ช่วยกันสอดส่องอยู่ ผู้นำสองชุมชนก็คุยกันว่าไม่ใช่คนบ้านเราทำ แต่ถ้าออกไปถนนใหญ่ ยอมรับว่ากลัว อันตรายคือ ถนนใหญ่ไม่จำเป็นไม่อยากออกไปข้างนอก เราไว้ใจใครไม่ได้ พวกคนร้ายมันไม่เลือกว่าเป็นใคร มันขอให้มันทำได้ตามเป้าหมายของมัน ...” แม่บ้านวัยกลางคนผู้หนึ่งเผยความรู้สึก ในขณะที่อีกสองคนกล่าวว่า
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของชุมชนไทยพุทธกับมุสลิมมากน้อยเพียงใด
“...หลังจากเกิดเหตุไปตลาด คิดว่าจะไปซื้อหมู ออกไปแล้วมีคนทักทำนองว่า ไม่กลัวหรือระวังดีนะ อะไรแบบนั้นรู้สึกไม่สบายใจ เปลี่ยนใจไม่ไปตลาดแล้ว กลับบ้านเลย...”
“มันมีข่าวพูดตามๆ กันมาอยู่เรื่อยว่าให้ระวังคนมุสลิม มีเหตุอะไรก็ไม่ต้องช่วยเหลือ หมายถึงคนนอกมุสลิมนอกชุมชนที่เราไม่รู้จัก เราเองก็คงต้องระวังตอนนี้กับคนที่ไม่รู้จักเราก็ไว้ใจไม่ได้จริง...”
นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวหนึ่งของสถานการณ์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเหตุแห่งความหวาดกลัว และความรู้สึกแบ่งกลุ่ม แบ่งฝ่ายที่ “ถูกบ่มเพาะ” ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่มี “ผู้จงใจ” ทำให้เกิดขึ้น
โต๊ะอิหม่ามอาวุโสเมืองปัตตานี กล่าวว่า ปัจุจุบันนี้ไม่ว่า พระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา ล้วนถูกปองร้าย ผู้นำศาสนาอิสลามเองก็ถูกทำร้ายเสียชีวิตไปคนแล้วคนเล่า และความหวาดกลัวนี้ก็เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้นำศาสนาเลือกที่จะ “เงียบ” แทนการออกมาอธิบาย หรือยืนยัน “ความถูกต้อง” ในหลักศาสนาอิสลาม
“กลุ่มแนวร่วมที่ลงมือก่อความรุนแรงในขณะนี้ เป็นผู้ที่ไม่เข้าใจในหลักศาสนาที่แท้จริง คนยิงผู้นำศาสนา เมื่อยิงท่านแล้ว คนยิงตะโกนว่า อัลเลาะห์ยิ่งใหญ่ๆ มันคืออะไร เขากล่าวอ้างว่าทำเพื่อรักษาศาสนา แต่เขาทำลายผู้นำศาสนาอยู่ทุกวัน โดยอ้างว่า ท่านเหล่านี้เป็น มุนาฟิก หรือ ผู้กลับกลอก ซึ่งหมายถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการต่อสู้ ถือว่าเป็นคนทรยศ ทั้งๆ ที่การจะบอกว่า ผู้ใดเป็น มุนาฟิก มีแต่อัลเลาะห์เท่านั้นที่จะเป็นบอก ไม่ใช่สามัญชนด้วยกัน แต่ปัจจุบันคำนี้ถูกนำมาใช้กับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ก่อการ ขณะนี้ ความบริสุทธิ์ของศาสนา กำลังถูก แปดเปื้อนด้วยคราบเลือด และน้ำตาของพี่น้องมุสลิม...”
นอกจากนี้ผู้ร่วมการเสวนายังได้ร่วมกันสะท้อนว่า ความรู้สึกแบ่งพวกและความเกลียดชัง ไม่เพียงจะก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างชาวบ้านในพื้นที่ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปยังส่วนอื่นๆ ของสังคมอีกด้วย
“น้องๆ ผู้หญิงที่ไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ เดินๆ อยู่โดนดึงผ้าคลุมผม” ผู้นำศาสนาอิสลามของจังหวัดปัตตานีท่านหนึ่งยกตัวอย่างประกอบ โดยมีผู้นำสตรีชาวพุทธซึ่งทำงานอยู่ร่วมกันกับพี่น้องคนมุสลิมบอกเล่าถึงสิ่งที่เธอประสบมากับตัวเองเพื่อยืนยันถึงปรากฎการณ์ดังกล่าวว่า...
“เคยไปประชุมที่กรุงเทพฯ กับน้องสตรีมุสลิม ไปเดินซื้อของด้วยกัน แม่ค้าตะโกนด่า ไป กูไม่ขายพวกมึงไอ้พวกคลุมหัว ได้ยินแล้วรู้สึกสงสารน้องๆ เพราะเขาไม่ใช่คนผิด และในระยะยาวไม่น่าจะดี เราอยากให้เราอยู่กันแบบพี่แบบน้องอย่างที่เคยเป็นมา ...”
คำถามสำคัญที่เป็นโจทย์ให้ผู้ร่วมเสวนาช่วยกันหาคำตอบก็คือ ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาเช่นนี้จะมีแนวทางป้องกันแก้ไขร่วมกันอย่างไรได้บ้าง?
ผู้ร่วมเสวนาหลายท่านพยายามจะชี้ให้เห็นช่องโหว่ รวมทั้งความผิดพลาดของการดำเนินนโยบาย และการปฏิบัติงานของภาครัฐที่ยาวนานมาแต่อดีต ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติต่อคนมุสลิมอย่างไม่เสมอภาค การพัฒนาแบบทุนนิยมที่ขัดต่อแบบแผนการดำเนินวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมพี่น้องมุสลิม มาตรฐานการศึกษาต่ำ อันเชื่อมโยงกับปัญหาความยากจน และทำให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะเยาวชน ถูกชักจูงให้เข้าเป็นแนวร่วมได้โดยง่าย
ผู้นำศาสนาท่านหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า
“...ในวันที่มีการประกาศว่าจะปักธงปัตตานี ที่มัสยิดในชุมชนของผมมีธงไทยปักอยู่ วันรุ่งขึ้นธงโดนกรีดเป็นริ้ว ๆ แสดงว่ามีคนไม่ดีแฝงตัวอยู่ในชุมชนต่างๆ เต็มไปหมด อย่างไรก็ตามคนเหล่านี้ถ้าเทียบสัดส่วนจำนวนคนของฝ่ายรัฐ และประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มผู้ก่อการนั้น สัดส่วนต่างกันมาก ฝ่ายรัฐ และประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการรุนแรงมีมากกว่ากลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ แต่ปัญหาก็คือ พวกเราต่างคนต่างอยู่ สิ่งนี้เป็นจุดอ่อนของชุมชน จึงเกิดเป็นช่องว่างให้สิ่งเลวร้ายแทรกเข้ามาได้โดยง่าย”
เรื่องราวในอดีตเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับอนาคตนั้นจริงอยู่ แต่เราควรต้องตระหนักว่า เราต่างไม่สามารถกลับไปเปลี่ยนแปลงมันได้ สำคัญคือ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันเราทุกคนจะต้องช่วยกันก้าวผ่านประวัติศาสตร์ที่เจ็บปวด ขมขื่น ไปสู่อนาคตของการอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาค และสันติได้อย่างไร?
บางที ถ้าหากเราทุกคนจะลองเปลี่ยนวิธีคิดและการตั้งคำถามต่อสถานการณ์ปัญหาร่วมกันเสียใหม่ อาจจะช่วยให้เราสามารถ “ผนึก” ความร่วมมือให้ “มีพลัง”มากเพียงพอที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาที่เกิดขึ้นได้...
กล่าวคือ แทนที่จะพยายามหาคำตอบว่า “ใคร” คือ ผู้ก่อการ หรือผู้กระทำ ,ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบในการแก้ปัญหา หรือเปลี่ยนจากคำถามที่ว่า ทำไมรัฐถึงทำอย่างนั้น ทำไม่สื่อถึงออกข่าวอย่างนี้ หรือทำไมชาวบ้านถึงไม่ยอมให้ความร่วมือ ฯลฯ เพราะคำถามเหล่านี้ ไม่เพียงจะหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้แล้ว แต่ยังเป็น “คำถาม” ที่เจือไปด้วยอคติซ่อนอยู่ภายในซึ่งนำพาไปสู่การตำหนิติเตียน และกล่าวโทษกันได้โดยง่าย ในที่สุดแม้ดูเหมือนจะเป็นพวกเดียวกัน ฝ่ายเดียวกัน แต่เมื่อตั้งวงคุยก็ไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ความร่วมมือใดๆ ได้
ในทางกลับกัน หากเราตั้งคำถามว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ “เราทุกคนจะช่วยกันป้องกัน และแก้ไขได้อย่างไรบ้าง? ด้วยคำถามที่ธรรมดาแบบนี้ จะทำให้เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาได้ และค่อยๆ คิดจากเล็กไปใหญ่ สร้างกลไกเชื่อมต่อกันเป็นชั้นๆ เริ่มจากภายในครอบครัว พ่อ-แม่ ต้องดูแล พูดคุย กับสมาชิกโดยเฉพาะลูกๆ ให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน สอดส่งดูแลพฤติกรรมมิให้ถูกชักจูงไปในทางไม่ดี ในระดับชุมชนก็ต้องช่วยกันคิดหาวิธีการป้องกันภัยร่วมกัน ในขณะเดียวกันระหว่างชุมชนก็คิดหาวิธีการว่าช่วยเหลือและร่วมมือกันอย่างไร ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ข้าราชการหน่วยงานต่างๆ จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมเติมช่องว่างเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายภาคประชาชนได้อย่างไร สุดท้ายก็คือ รัฐบาล หรือหน่วยงานระดับนโยบายจะต้องดำเนินการในเรื่องใด อย่างไร จึงจะเป็นการเอื้อให้การปฏิบัติบังสัมฤทธิ์ผล...
หากเราทุกฝ่ายหลอมรวมใจกันได้เช่นนี้ จะก่อให้เกิดกลไกการทำงานที่ผสานกันเป็นโครงข่ายในการป้องกัน “ผู้ไม่ประสงค์ดี” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจะสามารถนำ“สันติสุข” กลับคืนสู่พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในที่สุด...
หมายเหตุ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ โครงการเสวนาภาคประชาชน ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับ สถาบันข่าวอิศราฯ,ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.),คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ภาคประชาชนในพื้นที่ได้รวมกันทบทวนสถานการณ์ปัจจุบันและได้ร่วมกันกำหนดแนวทางสร้างความสามัคคีเพื่อแก้ไขปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้น อีกทั้งเพื่อกำหนดภาระกิจร่วมระหว่างภาคประชาชนและสื่อมวลชนในการสื่อสารให้สังคมไทยรับทราบถึงความรู้ ความเข้าใจ จิตสำนึกและวิธีคิดของภาคประชาชนในพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลาย โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การสร้างสันติสุขชายแดนใต้ให้ยั่งยืน.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร.02-2701350-4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ