SCB EIC ชี้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวไม่น้อยกว่า 4%YOY แต่ระยะยาวยังน่ากังวล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 07:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB EIC ชี้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวไม่น้อยกว่า 4%YOY แต่ระยะยาวยังน่ากังวลเพราะความวุ่นวายทางการเมืองกระทบความมั่นใจของลูกค้าส่งออกและนักลงทุนต่างประเทศ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้น SCB EIC มองว่า ในระยะสั้น ถึงแม้บางอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบหนักมาก แต่ผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีโครงสร้างที่ดี ปัญหาการเมืองเพียงอย่างเดียวมักไม่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง อีกทั้งการส่งออกซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจยังดีอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบระยะยาวยังน่ากังวลเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบความมั่นใจของลูกค้าส่งออกและนักลงทุนต่างประเทศที่อาจหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ซึ่งเป็นการเสียโอกาสและมีผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว “เศรษฐกิจไทยยังมีโครงสร้างที่ดี เพราะประเทศที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจส่วนใหญ่มักเกิดจาก 3 สาเหตุหลักๆ คือ (1) ขาดดุลชำระเงินสูงต่อเนื่อง (2) ปัญหาในภาคการเงินการธนาคารที่มีหนี้เสียในระดับสูง และ (3) ปัญหาด้านการคลัง หรือ รัฐบาลมีการขาดดุลการคลังมาก มีหนี้สินล้นพันตัว ซึ่งสำหรับไทยในตอนนี้ เรายังมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจต่ำเพราะ เรามีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 1.4 แสนล้านดอลลาร์สรอ. ซึ่งสูงกว่าหนี้สินต่างประเทศ ราว 2 เท่า ส่วนหนี้สินของภาคเอกชนก็ต่ำกว่าในอดีต ในขณะที่หนี้สินภาครัฐหรือหนี้สาธารณะอยู่ที่ราว 42% ของ GDP เท่านั้น” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว ปัญหาการเมืองเพียงอย่างเดียวมักไม่นำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจโดยตรง เช่นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พฤษภาทมิฬ หรือกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่างก็ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจล้มลงรุนแรงเหมือนในกรณีวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากหนี้สินล้นพันตัวอย่างในสหรัฐฯ และกรีซ “GDP ไตรมาส 2 น่าจะขยายตัวได้กว่า 4%YOY ตามการขยายตัวของการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกขับเคลื่อนโดยการส่งออก และแทบเป็นไปไม่ได้ที่ GDP ในไตรมาส 2 จะเติบโตติดลบเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างการส่งออกยังดีอยู่ ล่าสุดเดือน เม.ย. การส่งออกหลังหักมูลค่าการส่งออกทองคำยังเติบโตถึง 27%YOY โดยได้แรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ มองไปข้างหน้า ดัชนีชี้นำการส่งออกของไทยหลายตัวก็บ่งบอกว่าการส่งออกของไทยน่าจะยังขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องในเดือน พ.ค. ทำให้การผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี และช่วยให้ GDP เติบโตได้ไม่น้อยกว่า 4%YOY ในไตรมาส 2 ทั้งนี้ หากจะให้ GDP ไตรมาส 2 ขยายตัวต่ำกว่า 4% เราจะต้องเห็นตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ที่แย่มาก เช่นการส่งออกเดือน มิ.ย. จะต้องชะลอลงอย่างมากเหลือเติบโตไม่ถึง 15%YOY ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือน มิ.ย. ต้องหดตัวกว่า 70%YOY (แย่กว่าเดือน พ.ค. มาก) ซึ่งเรามองว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว “สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าคือผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะด้านการส่งออก การลงทุนและการท่องเที่ยว แม้ปัญหาหนี้ในยุโรปไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกมากนักเพราะเพราะเศรษฐกิจของกรีซ โปรตุเกส สเปน และไอร์แลนด์ มีขนาดเล็ก หรือเพียงราว 12% เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับมูลค่าส่งออกไปยัง 4 ประเทศนี้มีมูลค่ารวมเพียง 1% ของการส่งออกไทยเท่านั้น แต่การที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอาจกระทบกับการเติบโตของการส่งออก นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองที่มีการปิดถนนจนกระทบไปถึงการส่งออก (อย่างกรณีปิดถนนใกล้ท่าเรือแหลมฉบังจนมีการส่งออกน้ำตาลล่าช้า) หรือถึงขั้นปิดท่าเรือหรือสนามบินจริงๆ ก็มีผลกระทบความเชื่อมั่นของลูกค้าที่กังวลว่าเราจะส่งของได้ไม่ตรงเวลา และอาจทำให้เขาไปสั่งซื้อสินค้าจากคู่แข่ง ส่วนนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติก็อาจหันไปลงทุนในประเทศอื่นแทน ซึ่งต่อให้ปัญหาการเมืองจบแล้วเราอาจไม่สามารถจูงใจให้ลูกค้าหรือนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติหันกลับมายังประเทศไทยได้ง่ายนัก เช่นเดียวกัน ด้านการท่องเที่ยว ปัญหาทางการเมืองก็ทำให้กว่า 10 ประเทศซึ่งมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ประกาศเตือนนักท่องเที่ยว (travel warning) ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางมากรุงเทพฯ และประเทศไทยแล้ว และก็ยากที่จะคาดเดาว่าเมื่อไรการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาดีเหมือนเดิม” ดร. เศรษฐพุฒิกล่าว ติดตามรายละเอียดการวิเคราะห์เชิงลึกเพิ่มเติมได้ใน SCB Outlook ฉบับเดือนมิถุนายน 2553 สอบถามได้ที่ SCB EIC คุณพิณัฐฐา อรุณทัต โทร.0-2544-2953 อีเมล pinattha.aruntat@scb.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ