การป้องกันอุบัติภัยจากสารเคมีรั่วไหลระหว่างขนส่ง

ข่าวทั่วไป Wednesday March 7, 2007 10:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--ปภ.
หลายต่อหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์รถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำเป็นอันตรายกับผู้สัญจรผ่านไปมา ในบริเวณดังกล่าว ทำให้สารเคมีรั่วไหลออกมาจากถังบรรทุก เนื่องจากฝาถังและวาล์วชำรุด ส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วบริเวณ จึงเห็นได้ว่า เหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลไม่ได้มีเฉพาะภายในโรงงานสารเคมีเท่านั้น แต่อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย เช่น อุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีและวัตถุอันตรายทำให้สารเคมีรั่วไหลขณะขนส่ง เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาหรือบรรทุกสารเคมี อาจได้รับอันตรายจากสารเคมีรั่วไหล โดยไม่ทราบว่ามีสารเคมีแพร่กระจายอยู่ หรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยหรือไม่ ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะนำวิธีสังเกตการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยหากพบกับเหตุการณ์ดังกล่าว ดังนี้
- สถานที่เกิดเหตุหรือลักษณะยานพาหนะ หากพบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้นให้สังเกตจากลักษณะของ ควันถ้ามีสีดำ แสดงว่ามีสารเคมีอันตรายรั่วไหลในบริเวณดังกล่าว ถ้าเป็นพื้นที่โรงงานที่กำลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ให้หาข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบถามถึงชนิดของสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ผู้ปฏิบัติการ ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเสี่ยงภัยในพื้นที่เกิดเหตุ จึงเป็นวิธีการที่ลดความเสี่ยงอันตรายจากสารเคมีได้เป็นอย่างดี และสำหรับรถบรรทุกสารเคมี รถไฟบรรทุกสารเคมี ถังและแทงค์บรรจุสารเคมีที่ใช้ในการขนส่งและเก็บวัตถุอันตรายมักถูกออกแบบมาเฉพาะ เพื่อบรรจุสารเฉพาะชนิดหรือเฉพาะภาชนะบรรจุนี้เอง อาจเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าสิ่งที่บรรจุภายในนั้นเป็นอะไรได้ในระดับหนึ่ง เช่น ถังที่มีรูปร่างวงรี หัวและท้ายโค้งมนเล็กน้อย หรือเรียบ จะใช้บรรจุ ของเหลวไวไฟ ส่วนถังที่มีรูปทรงกระบอก หัวท้ายโค้งมนเป็นรูปครึ่งวงกลมผิวเรียบจะบ่งบอกว่าบรรจุก๊าซเหลว อัดความดัน เป็นต้น นอกจากนี้อาจดูว่าภาชนะที่บรรจุนั้นทำจากอะไร เช่น เหล็ก อลูมิเนียม หรือพลาสติก และลักษณะและรูปร่างของภาชนะต่างๆ อาจทำให้ผู้กู้ภัยบ่งชี้อันตรายได้ถูกต้องและแม่นยำ
- เครื่องหมายและป้ายบนยานพาหนะ รถที่บรรทุกวัตถุอันตรายจะต้องติดป้าย (Placard) เพื่อแสดงว่าวัตถุที่ขนส่งนั้นเป็นอันตราย โดยต้องติดอย่างน้อย 2 ด้านของยานพาหนะ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส และต้องมีหมายเลขของสหประชาชาติ มีสีดำเขียนบนป้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีส้ม ติดไว้กับป้าย แสดงความเป็นอันตราย
เนื่องจากวัตถุอันตรายมักถูกเก็บและขนส่งในปริมาณมากๆ การรั่วไหลโดยอุบัติเหตุของวัตถุเหล่านี้จึงอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เกิดเหตุได้ ซึ่งการแสดงความเป็นวัตถุอันตราย จะช่วยให้สามารถจัดการกับเหตุที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพราะสามารถบ่งชี้และบอกได้ว่าเป็นลักษณะของวัตถุอันตราย
- เอกสารการขนส่ง ในบางครั้งวัตถุที่อยู่ในแทงค์หรือบรรทุกอาจไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างถูกต้อง เราอาจดูจากเอกสารขนส่งได้ ดังนั้นเอกสารขนส่งควรจัดเก็บในพื้นที่ที่หาได้ง่าย หากเกิดเหตุขึ้น ซึ่งอาจเก็บไว้กับคนขับรถบรรทุก
- ความรู้สึกของมนุษย์ เราสามารถรับรู้ได้ว่ามีสารเคมีรั่วไหลได้จากการใช้ประสาทสัมผัส คือ การได้กลิ่น ได้ยิน มองเห็น ซึ่งประสาทสัมผัสจะสามารถทำให้รับรู้และบ่งบอกถึงร่องรอยของวัตถุอันตราย หรือสภาพอันตรายได้ เช่น การได้กลิ่นของสารเคมีหากเกิดการรั่วไหลของก๊าซหรือไอระเหย ซึ่งอาจได้กลิ่นฉุนของก๊าซในที่เกิดเหตุ ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่าการรั่วไหลของสารเคมีภายในบริเวณนั้นมีอันตรายหรือไม่ ส่วนการได้ยินของมนุษย์ก็ทำให้สามารถบอกได้ว่าเกิดการรั่วไหลของก๊าซ เช่น การได้ยินเสียงก๊าซรั่วจากวาล์วระบายความดัน นอกจากนี้การมองเห็นด้วยสายตา ก็สามารถบ่งบอกความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์เนื่องจากวัตถุอันตรายได้ เช่น ควันที่มีสีผิดปกติ การเกิดไอระเหย หรือแม้แต่อาการแสบตา หรือปฏิกิริยาของผู้ยืนอยู่ก็บอกได้เช่นกัน สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรื้อรังอาจสังเกตได้จาก การตายของปลาในน้ำ ต้นไม้ตาย ซึ่งถือว่าเป็นการบ่งบอกได้ว่ามีการรั่วไหลของวัตถุอันตรายได้เมื่อพบว่ารถบรรทุกสารเคมีประสบอุบัติเหตุในระหว่างขนส่ง ซึ่งอาจทำให้มีการรั่วไหลของสารเคมี หรือเกิดเพลิงไหม้ หรือการระเบิดของสารเคมีขึ้นในบริเวณนั้นได้ หากท่านอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว หรือเป็นผู้พบเห็นเหตุการณ์ เพื่อความปลอดภัยท่านควรดำเนินการดังนี้ คือ
- ให้มองหาผู้บาดเจ็บหรือหมดสติในระยะรัศมีอย่างน้อย 50 เมตร ทางด้านเหนือลม หากประเมิน สถานการณ์แล้วว่าไม่สามารถเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้โดยไม่เกิดอันตรายให้รีบเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปอยู่ในที่อากาศบริสุทธิ์ทันที
- ให้รีบแจ้งหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินของท้องที่ แล้วให้ข้อมูลที่จำเป็นอย่างละเอียด เช่น สถานที่ เกิดเหตุ ประเภทของรถบรรทุก สัญลักษณ์ที่แสดงถึงชนิดของสารเคมี ชื่อบริษัทขนส่ง มีไฟไหม้หรือสารเคมี รั่วไหลท้ายรถหรือไม่ มีผู้บาดเจ็บจำนวนเท่าใด เกิดความเสียหายอะไรบ้าง รวมทั้งสภาพแวดล้อมใกล้เคียง
ว่าอยู่ในเขตชุมชน โรงพยาบาล แหล่งน้ำ อยู่ในบริเวณนั้นหรือไม่
- อย่าจอดรถในที่ที่เป็นทางผ่านของสารเคมีที่รั่วไหล และอย่าขับรถผ่านกลุ่มควันสารเคมี เพราะยานพาหนะเป็นแหล่งกำเนิดประกายไฟอาจก่อให้เกิดการระเบิดได้
- ห้ามทำการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดเป็นประกายไฟใกล้จุดเกิดเหตุนั้น เพราะอาจมีไอระเหยของสารเคมีหรือก๊าซที่สามารถติดไฟได้อยู่ในบริเวณนั้น
- ไม่เข้าไปใกล้ในพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่กั้นเป็นเขตพื้นที่อันตราย เพราะพื้นที่ดังกล่าวอาจมีสารเคมีที่รั่วไหล อยู่ อาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงโดยไม่คาดคิดได้
- ห้ามเหยียบหรือสัมผัสกับของเหลวที่รั่วไหลออกมา และห้ามเปิดท้ายรถที่ประสบอุบัติเหตุอย่างเด็ดขาด เพราะอาจมีไอระเหยของสารเคมีที่เข้มข้นรั่วไหลออกมา ทำให้ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือหรือประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
สุดท้ายนี้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสารเคมีที่รั่วไหล จึงควรฝึกสังเกตสิ่งผิดปกติและเรียนรู้ถึงวิธีการป้องกันตนเองจากอุบัติภัยจากสารเคมี เพื่อให้สามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมหากเกิดเหตการณ์ไม่คาดฝันขึ้น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบควรใช้ความระมัดระวังในการดูแลและจัดเก็บสารเคมีอย่างปลอดภัยถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และผู้ที่ทำหน้าขนส่งสารเคมีอันตราย ก็ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่และหมั่นสำรวจอุปกรณ์ขนส่งและรถให้อยู่ในภาวะที่พร้อมสำหรับการขนส่งอย่างปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ขนส่งและประชาชนทั่วไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ