กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--สกว.
นักวิจัยชาวบ้านค้นพบเทคโนโยลี “แอร์แว” หรือระบบการเพิ่มแรงดันเครื่องสูบน้ำ เผยแก้ปัญหา “ขาดแคลนน้ำ” ที่เรื้อรังมาเนิ่นนาน ชาวบ้าน นักเรียนได้เฮ ไม่ต้องเสียเวลาเข็นรถไปตักน้ำวันละหลายชั่วโมง
นายกล พรมสำสี หัวหน้าโครงการวิจัย การศึกษารูปแบบการจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด : กรณีบ้านผาชัน ตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี : งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จากการที่ทีมวิจัยท้องถิ่นบ้านผาชัน ได้พยายามศึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของหมู่บ้านร่วมกัน ทีมวิจัยได้ค้นพบเทคโนโลยีที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “แอร์แว” ซึ่งเป็นระบบเพิ่มแรงดันเครื่องสูบน้ำให้มีแรงส่งสูงขึ้น โดยการค้นพบครั้งนี้นับว่าสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยแก้ปัญหาเป็นการขาดแคลนน้ำกิน-น้ำใช้ของหมู่บ้านที่เรื้อรังมานาน
หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า แม้ว่าบ้านผาชันจะตั้งอยู่ติดกับลำน้ำโขง แต่ที่ผ่านมาหมู่บ้านแห่งนี้กลับต้องประสบปัญหาการขาดแคลนทั้งน้ำกิน-น้ำใช้ในช่วงฤดูแล้งของทุกปี เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นหิน และมีความลาดเอียงสูง พื้นดินไม่สามารถดูดซับน้ำจากธรรมชาติเอาไว้ได้ ในขณะที่การดึงน้ำจากแม่น้ำโขง และบุ่งพระละคร อ่างเก็บน้ำธรรมชาติข้างริมน้ำโขงขึ้นมาใช้ ด้วยการใช้เครื่องสูบน้ำแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากระดับที่ตั้งชุมชนสูงกว่าแหล่งน้ำ รวมทั้งระยะทางส่งน้ำค่อนข้างไกล ทำให้เครื่องสูบน้ำเสียหายบ่อยๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูง
แหล่งน้ำที่ชาวบ้านพึ่งพาได้ คือ ลำห้วยน้ำซับขนาดเล็กที่บริเวณชายป่านอกหมู่บ้าน ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลาไปกลับนานกว่า 2 ชั่วโมงแล้ว ชาวบ้านยังต้องตื่นไปเข้าคิวตักน้ำกันตั้งแต่เช้าตรู่ และบางครั้งยังต้องไปรอให้น้ำซึมออกมาเป็นเวลานาน แม้แต่เด็กนักเรียนก็ต้องมีการจัดแบ่งเวรไปตักน้ำเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมของโรงเรียนทุกวัน ซึ่งเด็กไม่เพียงเสียเวลาในการเรียน แต่ยังกระทบถึงหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย โดยเฉพาะวิชาเกษตรที่ต้องใช้น้ำต้องงดสอน
ที่ผ่านมาชุมชนและหน่วยงานภาครัฐได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด อาทิ การขุดบ่อบาดาลแต่ไม่พบแหล่งน้ำเพราะพื้นด้านล่างเป็นหิน การขุดบ่อน้ำตื้น แต่ปริมาณน้ำไม่มากนัก รวมทั้ง การจัดทำระบบประปาชุมชน ด้วยการทำถังน้ำขนาดใหญ่กลางหมู่บ้าน และสูบน้ำจากบุ่งพระละคอน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติริมแม่น้ำโขง แต่ก็ประสบปัญหาหามอเตอร์สูบน้ำมีกำลังไม่สูงพอที่จะสูบน้ำได้ เพราะที่ตั้งของแหล่งน้ำต่ำกว่าที่ตั้งของชุมชน เครื่องสูบน้ำจึงเสียหายบ่อย ชุมชนต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
การค้นพบ “แอร์แว” อันเป็นศัพท์แสงที่ได้มาจากการชาวบ้านเรียกกันขำ ๆ ว่า “แอแวะ” เป็นการปล่อยให้อากาศ “แวะ” เข้าไปในน้ำเพื่อช่วยเพิ่มแรงดันนั้นได้มาจากการเสนอความคิดของชาวบ้านคนหนึ่งในเวทีประชาคมหมู่บ้าน นายกล เล่าถึง สิ่งที่ค้นพบว่า
“ในเวทีประชุม เราระดมความคิดเห็นกันว่า ทำอย่างไรจะสูบน้ำมาใช้โดยไม่ให้เครื่องสูบน้ำมีปัญหา ก็มีชาวบ้านคนหนึ่ง เล่าว่าตอนเขาสูบน้ำรดต้นไม้ เห็นสายยางขาดทำให้สายยางมันสะบัดไปมา แล้วน้ำมันก็พุ่งแรงขึ้น....แกเลยเสนอให้ทีมวิจัยทดลองเจาะรูท่อน้ำแล้วลองต่อท่อ...ครั้งแรก ๆ เจาะรูเดียวแล้วก็ทดลองสูบก็ไม่ได้ผล น้ำไม่ขึ้น ...จึงลองเจาะ 2 รู ดูเหมือนจะเริ่มได้ผล เราก็ลองขยับระยะห่างระหว่างท่อแอร์แวทั้งสองอัน....ทดลองอยู่หลายครั้ง เพราะต้องให้ได้ระยะพอดีไม่ห่างเกินไป หรือ ใกล้กันเกิน ต่อมาก็พบว่าระยะห่างที่ลงตัวที่สุดคือ ตัวท่อแอร์แวยาว 1 เมตร และระยะห่างระหว่างท่อทั้ง 2 อันอยู่ที่ 30 เซนติเมตร”
จากข้อค้นพบนี้ทำให้ชาวบ้านจำนวน 134 ครัวเรือน ซึ่งมีจำนวนประชากรรวม 600 ชีวิต มีน้ำสำหรับดื่มกิน และใช้ในชีวิตประจำวันอย่างพอเพียง ทุกวันนี้ คนผาชันมีน้ำใช้ทุกครอบครัว ซึ่ง “น้ำ” จะมาจาก 2 ส่วนคือ น้ำจากฝายหรือระบบประปาภูเขาที่จะถูกปล่อยลงมาในช่วงฤดูฝน อีกส่วนจะเป็นน้ำจากประปาชุมชน คือน้ำที่สูบขึ้นมาจากบุ่งพระละคอน ด้วยเครื่องสูบน้ำที่ถูกเสริมสมรรถนะด้วย “แอร์แว” อันเป็นนวัตกรรมการสูบน้ำซึ่งมาจากการค้นพบของชาวบ้านผาชัน
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โทร.0-2270-1350-4 ต่อ 109
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net