กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกสิกรไทยจับมือแฟคเตอริ่งกสิกรไทย ให้บริการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากเอกสารการค้ากสิกรไทย สินเชื่อแบบใหม่ใช้ใบสั่งซื้อขอกู้ ช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ขออนุมัติครั้งเดียว ใช้วงเงินได้ต่อเนื่อง พร้อมรับเรียกเก็บหนี้ให้เบ็ดเสร็จ ตั้งเป้าปล่อยกู้ 1,200 ล้านบาท
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารร่วมกับบริษัท แฟคเตอริ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดให้บริการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากเอกสารการค้ากสิกรไทย (K-P/O & Invoice Financing) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินแบบครบวงจรให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตั้งแต่การซื้อวัตถุดิบ ผลิตสินค้า ส่งสินค้า จนถึงการเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้า ซึ่งลูกค้าสามารถขอสินเชื่อกับทางธนาคาร โดยโดยใช้เอกสารใบสั่งซื้อสินค้า (Purchase Order : P/O) และรายการลูกหนี้การค้าประกอบกับเอกสารการขอสินเชื่อปกติในการขอสินเชื่อ และและไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
บริการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากเอกสารการค้ากสิกรไทย เป็นสินเชื่อระยะสั้นประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) โดยธนาคารกสิกรไทยจะเป็นผู้ให้สินเชื่อเพื่อใช้ซื้อวัตถุดิบและผลิตสินค้า (Pre-Shipment Financing) ในขณะที่บริษัท แฟคเตอริ่งกสิกรไทย จะให้ใช้บริการหลังจากการส่งสินค้าและใบแจ้งหนี้ (Invoice) โดยจะรับซื้อลูกหนี้การค้าจากลูกค้า ซึ่งบริการดังกล่าวจะครอบคลุมการให้สินเชื่อ (Post-Shipment Financing) และบริการเรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้การค้า
ทั้งนี้จะให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 80% ของมูลค่าในใบสั่งซื้อสินค้า โดยคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว (Float Rate) ที่ MOR+1 ถึง MOR+2 (ปัจจุบัน MOR ของธนาคารเท่ากับ 7.25%) ซึ่งผู้ประกอบการที่ยื่นขออนุมัติเพียงครั้งเดียว สามารถใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในขั้นตอนการผลิตสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง
นายปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารพยายามเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนในการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี ซึ่งบริการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากเอกสารการค้ากสิกรไทย (K-P/O & Invoice Financing) จะช่วยลดความยุ่งยากในการทำธุรกิจและเวลาในการเรียกเก็บหนี้ของลูกค้า เพื่อจะได้นำเวลาและทรัพยากรไปบริหารธุรกิจได้อย่างจริงจัง ในขณะเดียวกันก็จะมีเงินมาหมุนเวียนทางการค้าได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากเอกสารการค้ากสิกรไทยในปีนี้ไว้ 1,200 ล้านบาท