กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--ซีเกท เทคโนโลยี
บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่ง ประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ประกาศรายชื่อ 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ที่ผ่านการแข่งขันรอบคัดเลือก โดยทุกทีมได้รับเงิน
สนับสนุนการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์จักรยาน ทีมละ 20,000 บาท เพื่อเข้าแข่งขันในรอบ ชิงชนะเลิศของการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ในวันที่ 5 สิงหาคม ศกนี้
การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นการแข่งขันออกแบบและพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้าง และสามารถวิ่งไปบนเส้นทางที่กำหนดให้ ทีมที่สามารถวิ่งได้ระยะทางยาวที่สุดและเร็วที่สุดโดยอัตโนมัติจะเป็นผู้ชนะ16 ทีมรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่ผ่านการคัดเลือกเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศได้แก่
1. ทีมเอ็กซ์-ไบค์ (Ex-Bike) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย วิ่งได้ 23.49 เมตร ทรงตัวได้ 600 วินาที คะแนนรวม 143.49 เมตร
2. ทีมไอราป ฟรีดอม (iRAP Freedom) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิ่งได้ 3.95 เมตร ทรงตัวได้ 293 วินาที คะแนนรวม 62.55 เมตร
3. ทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิ่งได้ 42.40 เมตร ทรงตัวได้ 15 วินาที คะแนนรวม 45.40 เมตร
4. ทีมเรียล (Real) จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิ่งได้ 17.28 เมตร ทรงตัวได้ 7 วินาที คะแนนรวม 18.68 เมตร
5. ทีมบรรเจิด (Banjerd) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร วิ่งได้ 15.71 เมตร ทรงตัวได้ 4 วินาที คะแนนรวม 16.51 เมตร
6. ทีมอันแมนน์ (Unmanned) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิ่งได้ 15.02 เมตร ทรงตัวได้ 5 วินาที คะแนนรวม 16.02 เมตร
7. ทีมบลู โลตัส (Blue-Lotus) จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิ่งได้ 14.76 เมตร ทรงตัวได้ 3 วินาที คะแนนรวม 15.36 เมตร
8. ทีมสลาลม (Slalom) จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย วิ่งได้ 12.34 เมตร ทรงตัวได้ 6 วินาที คะแนนรวม 13.54 เมตร
9. ทีมซีอาร์วี ไบค์ (CRV Bike) จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิ่งได้ 5.80 เมตร ทรงตัวได้ 4 วินาที คะแนนรวม 6.60 เมตร
10. ทีมเย็นตาโฟ (Yentafo) จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิ่งได้ 4.45 เมตร ทรงตัวได้ 3 วินาที คะแนนรวม 5.05 เมตร
11. ทีมพลาญชัย โรบ็อต จากวิทยาลัยเทคนิคร้อยเอ็ด วิ่งได้ 4.54 เมตร ทรงตัวได้ 1 วินาที คะแนนรวม 4.74 เมตร
12. ทีมเคบียู ไบซี่โรโบ (KBUBicyRobo) จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต วิ่งได้ 3.55 เมตร ทรงตัวได้ 3 วินาที คะแนนรวม 4.15 เมตร
13. ทีมบลู-บ็อต-เกรียน (Blue Bot Krian) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิ่งได้ 3.24 เมตร ทรงตัวได้ 2 วินาที คะแนนรวม 3.64 เมตร
14. ทีมคิโมจี้ (Kimochii) จาก สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น วิ่งได้ 3.16 เมตร ทรงตัวได้ 1 วินาที คะแนนรวม 3.36 เมตร
15. ทีมลองดู (Longdo) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร วิ่งได้ 2.55 เมตร ทรงตัวได้ 2 วินาที คะแนนรวม 2.95 เมตร
16. ทีมเทพเจ้าหมีแพนด้า (God of Panda) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิ่งได้ 2.74 เมตร ทรงตัวได้ 1 วินาที คะแนนรวม 2.94 เมตร
“ธรรมชาติของเยาวชนซึ่งมีความสนใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เช่นเดียวกับความสามารถในการทำงานเป็นทีม เป็นคุณสมบัติที่สำคัญในการพัฒนาโซลูชั่นอันสร้างสรรค์สำหรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว
“การจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งแรกในประเทศไทยและครั้งแรกในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และความชำนาญ ในสาขาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรม การแข่งขันนี้ยังสนับสนุนโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ตามแผนแม่บทหุ่นยนต์แห่งชาติ โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ไทยและระบบอัตโนมัติ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศในสาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จักรกฤษณ์ กล่าวเสริม
นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด รองประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายปฏิบัติการประเทศไทย บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทร่วมมือกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอทีเพื่อช่วย พัฒนาพื้นฐานการเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ของเยาวชนไทย”
ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน บริษัทซีเกทได้เตรียมรางวัลเงินสดต่าง ๆ สำหรับผู้ชนะการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ ดังนึ้คือ รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ
“การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับนี้จะช่วยจุดประกายนิสิต นักศึกษาไทยให้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และปรับใช้ความชำนาญทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์ทางด้านหุ่นยนต์” นายเจฟฟรี่ย์ ดี ไนการ์ด กล่าวเสริม
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์จะเป็นการจัดขึ้นมาครั้งแรก แต่ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีทีมที่สมัครเข้าร่วมการแข่งขันถึง 25 ทีม จาก 17 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย
แม้แต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยดังจากต่างประเทศ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว (Tokyo Institute of Technology) ประเทศญี่ปุ่น ก็แสดงความสนใจในการแข่งขันนี้ ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจกล่าวว่า “ มีความเป็นไปได้ว่าในปีหน้าเราอาจจะขยายการแข่งขันให้เป็นการแข่งขันระดับนานาชาติก็เป็นได้”
บทสัมภาษณ์ทีมที่ได้คะแนนสูงอันดับหนึ่งถึงสาม ในการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ รอบคัดเลือก
1.ทีมเอ็กซ์-ไบค์ (Ex-bike) - สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)
นายสุชาติ จันทรชิต หัวหน้าทีมเอ็กซ์-ไบค์ และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาเมคาโทรนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ทีมเป็นหนึ่งใน 16 ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ คือ การทำงานเป็นทีม ซึ่งสมาชิกในทีมแต่ละคนได้ร่วมแรงร่วมใจในการพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับอย่างเต็มที่ โดยแต่ละคนจะได้รับมอบหมายให้ทำงานแต่ละส่วนซึ่งมีความแตกต่างกัน ประกอบด้วยงานทางด้านกลไก ส่วนควบคุม การพัฒนาโปรแกรม และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ทางทีมงานยังได้เรียนรู้ว่าการประกอบชิ้นส่วนจักรยานหุ่นยนต์บางอย่างก็ไม่ได้ทำตามแบบที่วางไว้ทั้งหมด แต่ได้เรียนรู้การปรับใช้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการแข่งขันมากที่สุด
ทีมเอ็กซ์-ไบค์มีแผนในการพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ในเรื่องการเลี้ยว โดยการเลี้ยวนั้นต้องตั้งใจเอียง เพื่อให้จักรยานสามารถเลี้ยวได้ดี การปรับ set point ให้ดี และการปรับความเร็ว โดยการเร่งความเร็วที่รถจักรยานหุ่นยนต์วิ่งในทางตรง และลดความเร็วลงในช่วงที่รถเลี้ยว
ในการเข้าร่วมการแข่งขันฯ ทีมเอ็กซ์-ไบค์ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยการนำความรู้ที่เรียนจากห้องเรียนมาใช้ ทำให้ทราบว่าบางครั้งทฤษฏีและการนำไปปฏิบัติก็ไม่ตรงกันเสียทีเดียว และได้มีโอกาสในการพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีม ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ความสามัคคีและความเสียสละ
2. ทีมไอราป ฟรีดอม (iRAP Freedom) — มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
นายประพันธ์ คล้ายฤทธิ์ หัวหน้าทีม และนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ทีมเป็นหนึ่งใน 16 ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ คือ การใช้วิธีการตั้งตรงด้วยตนเองของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ โดยมีชุดโมเมนตัมบังคับ นอกจากนี้ ทางทีมฯ ยังนำเซนเซอร์ที่มีคุณภาพดี รวมทั้งอุปกรณ์ทางด้านเครื่องกลที่ดีมาใช้ในการแข่งขัน
ในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ทีมไอราป ฟรีดอมมีแผนในการเปลี่ยนล้อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพิ่มเติมระบบวิ่งและควบคุมรถให้เลี้ยวได้ตามจุดที่กำหนด
ทีมไอราปได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม นำความรู้ทางด้านวิศวกรรมควบคุมมาใช้ และการแข่งขันนี้เป็นลีคเดียวที่ใช้ระบบควบคุมอัตโนมัติ
3. ทีมเอสทีอาร์ไอ (STRI) — มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
นายเจษฏางค์ ถนอมสิน หัวหน้าทีมและนักศึกษาปริญญาโทชั้นปีที่ 1 ภาควิชาวิศวกรรมการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ทีมเป็นหนึ่งใน 16 ทีมที่ผ่านเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ คือ การทำงานเป็นทีม และการผสมผสานความชำนาญของสมาชิกในทีมแต่ละคน ในด้านไฟฟ้า เครื่องกล การผลิตและคอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์ โดยทีมเอสทีอาร์ไอใช้เวลาทั้งสิ้น 1 สัปดาห์ในการพัฒนาจักรยานหุ่นยนต์
ในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ทีมเอสทีอาร์ไอมีแผนในการทำให้จักรยานหุ่นยนต์มีความเสถียรมากขึ้น พัฒนาระบบเครื่องกลให้สมดุล ตลอดจนศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในบทความจากต่างประเทศ
การเข้าร่วมการแข่งขันทำให้สมาชิกในทีมมีความกระตือรือร้นในการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองจากทางอินเทอร์เน็ตด้วย
ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย
สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยได้ที่ โทร. 0-2889-2138 ต่อ 6446 หรือ เว็บไซต์ www.trs.or.th
ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)
สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกผ่านการศึกษาขั้นสูง การทำวิจัย และ กิจกรรมต่อยอดอื่น ๆ สถาบันเอไอทีซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2502 ได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตชั้นนำของภูมิภาคเอเชียและกำลังทำงานอย่างกระตือรือร้นร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐบาลและเอกชนทั่ว พื้นภูมิภาค และกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก
สถาบันฯซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความเป็นนานาชาติและหลากวัฒนธรรม ดำเนินการในลักษณะประชาคมนานาชาติที่มี สิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อมภายในบริเวณสถาบันฯ ซึ่งตั้งอยู่บน กม.ที่ 40 ทางเหนือของกรุงเทพฯ ประเทศไทย
นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการและอาคารเรียนต่างๆ บริเวณของสถาบันฯประกอบด้วยที่พัก สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ศูนย์การประชุม และห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 230,000 เล่ม วารสารแบบพิมพ์เป็นเล่มและแบบออนไลน์จำนวน 830 รายการ ทุกอย่างมีส่วนช่วยทำให้พันธกิจหลักของสถาบันเอไอทีบรรลุเป้าหมาย
ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท
ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลจาก การนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และแบรนด์โซลูชั่น (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่ www.seagate.com
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันและ
อาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)
โทรศัพท์ 0-2524-5229 Email: manukid@ait.ac.th
นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด
โทรศัพท์ 0-2715-2919 Email: kwanjit.sudsawad@seagate.com