กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
คนไทยกำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหนักขึ้นทุกวัน หนึ่งในนั้นคือ โรคไขมันในเส้นเลือดสูง ซึ่งก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดและโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เหตุเพราะไขมันในเลือดสูง อีกทั้งการรับประทานอาหารแบบตามใจปาก ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
คุณมลฤดี จิตรขาว นักโภชนาการ โรงพยาบาลบีเอ็นเอชอธิบายว่า หลายคนมีความเข้าใจผิดว่า คอเลสเตอรอลได้มาจากอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วร่างกายของเราสามารถผลิตไขมันคอเลสเตอรอลขึ้นมาเองจากการทำงานของตับ โดยปริมาณของคอเลสเตอรอลที่ตับสร้างจะมีสัดส่วนประมาณ 80% ของปริมาณไขมันคอเลสเตอรอลทั้งหมดของร่างกาย และโดยทั่วไปเราได้รับจากสารอาหารเพียง 20% เท่านั้น โดยคอเลสเตอรอล จัดเป็นไขมันประเภทหนึ่งที่พบเฉพาะไขมันที่มาจากสัตว์เท่านั้น พบมากในเครื่องในสัตว์ ไข่แดงทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไข่เป็ด ไข่ไก่ ไข่ปลา ไข่กุ้ง หรือแม้กระทั่งไข่มดแดง เนื้อสัตว์ติดมัน โดยเฉพาะในส่วนของหนัง อาหารทะเล เช่น ปลาหมึก กุ้ง หอยต่างๆ รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์จากนม
ปัจจุบันแนวทางที่นักโภชนาการทั่วโลกแนะนำแก่ผู้ป่วยนั้น เรียกว่า การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต (Therapeutic Lifestyle Changes Diet) ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ควบคุมอาหาร เคลื่อนไหวร่างกาย และควบคุมหรือลดน้ำหนัก มีประสิทธิภาพในการลดระดับไขมัน LDL(ไขมันเลว) ได้สูงถึง 20-30% เริ่มต้นด้วยการควบคุมอาหาร ตามแนวทาง เลี่ยง-เลือก-เพิ่ม
เลี่ยง : หลีกเลี่ยงอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง จำพวก เครื่องในสัตว์ ปลาหมึก เนย นม และไข่แดง (ไม่ควรเกินวันละ 2 ฟองต่อสัปดาห์) ในส่วนของน้ำมันพืชจะไม่มีคอเลสเตอรอล แต่เมื่อกินเข้าไปแล้วอาจทำให้เกิดคอเลสเตอรอลจากการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว กะทิ เนื่องจากมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งส่งผลให้การทำงานของตับแปรรูปเปลี่ยนเป็นคอเลสเตอรอลได้
เลือก : เลือกรับประทานเพื่อสุขภาพที่ยืนยาว โดยแนะนำเนื้อสัตว์ที่มีปริมาณไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลน้อยกว่า เช่น อกไก่ เนื้อหมูสันใน เนื้อปลาต่างๆ ในส่วนของเนื้อปลาประเภทปลาน้ำเค็มหรือปลาทะเล เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลากระพง ปลาแซลมอน มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูงกว่าปลาน้ำจืด แต่ก็มีไขมันที่มีประโยชน์ที่เรียกกันว่า โอเมก้า 3 อยู่ในเกณฑ์สูงเช่นกัน ซึ่งจะมีประโยชน์ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
ควรเลือกดื่มนมประเภท นมวัวพร่องมันเนย หรือโยเกิร์ตพร่องมันเนย แทนนมวัวธรรมดา หรือ นมถั่วเหลือง ปราศจากคอเลสเตอรอล
น้ำมันพืช เลือกไขมันจากน้ำมันพืชประเภทไขมันไม่อิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันมะกอก น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว เป็นต้น ยกเว้น กะทิ น้ำมันปาล์ม
เนยเทียม สูตรปราศจากไขมันทรานส์แทนสูตรธรรมดา
เพิ่ม : .ใยอาหารต่างๆ ผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูง ธัญพืช เช่น ถั่วแดงหลวง ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ บล็อคโคลี่ กล้วย แอปเปิ้ล สตรอว์เบอร์รี่ เป็นต้น มีคุณสมบัติช่วยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอล
พืชที่มีสารสเตียรอล เนื่องจากมีคุณสมบัติในการลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลบริเวณลำไส้ พบมากในอัลมอนด์ ถั่วเหลือง ถั่วชิกพี อะโวคาโด น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก เนยเทียมที่ทำจากพืชที่มีสารสเตียรอล
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ นอกเหนือจากการควบคุมอาหารหรือการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต ด้วยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โดยช่วยเพิ่ม HDL-คอเลสเตอรอลดี และลด LDL-คอเลสเตอรอลเลว ควรบริโภคอาหารหวาน แป้ง น้ำตาลให้น้อยลง ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักให้คงอยู่ในเกณณ์ปกติ เพียงเท่านี้คุณก็จะมีสุขภาพที่ยั่งยืน สมบูรณ์แข็งแรง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตอีกยาวนาน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6862700 โรงพยาบาลบีเอ็นเอช