กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สถาบันอาหาร
“สถาบันอาหาร” ฟันธงฟุตบอลโลก 2010 ช่วยปลุกอุตสาหกรรมอาหารไทยตื่นตัวหลังผู้ประกอบการไทย และผู้บริโภค ต้องเผชิญความเครียดจากปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ชี้เป็นโอกาสดีสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของไทย ทั้งการค้าที่เกิดขึ้นภายในประเทศ และตลาดในแอฟริกาใต้ ที่คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยมากกว่า 5,000 ล้านบาท ในช่วงการแข่งขัน โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าว ธัญพืช และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง เป็นสินค้าดาวเด่นในการส่งออก รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหารไทย
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า “การแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน — 11 กรกฎาคม 2553 ณ ประเทศสาธารณ รัฐแอฟริกาใต้ คาดว่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของไทยทั้งการค้าที่เกิดขึ้นกับตลาดในประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และตลาดภายในประเทศของไทย คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกของไทยและธุรกิจบริการอาหารไทยในแอฟริกาใต้สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากกว่า 5,000 ล้านบาท ในช่วงงานดังกล่าว เพราะนอกจากเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งคาดว่าในปี 2553 มูลค่าการบริโภคอาหารในแอฟริกาใต้จะสูงถึง 32.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการส่งออกและนำเข้าคาดว่าจะอยู่ที่ 5.7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และ 4.44 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีผู้บริโภคของผู้เข้าแข่งขันจาก 32 ชาติ และนักท่องเที่ยวแฟนบอลจากทั่วโลกที่หลั่งไหลเดินทางเข้ามาในประเทศแอฟริกาใต้จำนวนมาก เพื่อติดตามเชียร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม ผู้มีฐานะ มีกำลังการใช้จ่ายสูง และเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ”
ประมาณการณ์ว่านักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลก คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเฉลี่ยต่อคนที่ประมาณ 48,277 - 215,000 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับ ดาวเด่นสินค้าอาหารของไทยที่คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงงานดังกล่าว จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช โดยเฉพาะ “ข้าวนึ่ง” “ข้าวเจ้า” และ “ข้าวหอมมะลิ” รองลงมาเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง โดยเฉพาะ “ปลาซาร์ดีนเนลล่า ปลาบริสลิงหรือปลาสแปรดกระป๋อง” “ปลาทูน่ากระป๋อง” และ “กุ้งขาวแช่เย็นจนแข็ง” เพราะเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารที่ทั้งชาวแอฟริกาใต้และผู้บริโภคจากชาติต่างๆ นิยมบริโภค สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารสำเร็จรูปจะเป็นอาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืชหรือผลิตภัณฑ์จากธัญพืช และขนมหวานที่ทำจากน้ำตาลเป็นสำคัญ ส่วน “ธุรกิจร้านอาหารไทย” ผู้บริโภคที่จะเข้ามาร่วมงานฟุตบอลโลก 2010 มีหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม ทำให้
พฤติกรรมการบริโภคมีความหลากหลายตามไปด้วย ซึ่งร้านอาหารนานาชาติรวมถึงร้านอาหารไทยสามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ของผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเมืองที่มีการแข่งขันอย่างเคปทาวน์ และโจฮันเนสเบิร์ก ซึ่งเป็นแหล่งพักอาศัยและแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุด
ในส่วนของตลาดภายในประเทศ คาดว่าในฟุตบอลโลก 2010 จำนวนคนไทยจะหันมาดูฟุตบอลโลกเพิ่มมากขึ้นกว่าการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 โดยจะมากกว่า 45 ล้านคน และเป็นกลุ่มคนอายุระหว่าง 15-59 ปี โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และกลุ่มคนโสด เนื่องจากฟุตบอลโลกเป็นกิจกรรมนันทนาการหนึ่งที่ช่วยให้คนไทยสามารถผ่อนคลายจากความตึงเครียดต่างๆ ที่รุมเร้านับตั้งแต่ต้นปีได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ โดยในส่วนพฤติกรรมการบริโภคอาหารคาดว่าคนไทยที่ดูการแข่งขันฟุตบอลโลกที่บ้านจะบริโภคอาหารจานด่วน ขนมขบเคี้ยว (เช่น มันฝรั่งทอดกรอบ ถั่วทอด ข้าวเกรียบ ข้าวโพดคั่ว) น้ำผลไม้ นม น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง เครื่องดื่มที่ช่วยไม่ให้ง่วงโดยเฉพาะกาแฟ/ชา และเครื่องดื่มบำรุงกำลังมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ดูการการแข่งขันฟุตบอลโลกนอกบ้านจะบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม กาแฟกระป๋องและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เป็นสำคัญ ส่งผลให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตอาหารที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจบริการร้านอาหาร โดยเฉพาะร้านอาหารที่มีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2010 และธุรกิจร้านอาหารจานด่วนที่บริการส่งถึงบ้าน รวมถึงธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง
ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยควรพิจารณาปรับกลยุทธ์เชิงรุกรับมือกับกระแสบอลโลก เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เกิดขึ้นโดยอิงกระแสดังกล่าว และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างลงตัวตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลานั้น ยกตัวอย่างเช่น ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับช่องทางการจัดจำหน่ายของตนเพื่อกระตุ้นยอดขายโดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ
รายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : สุขกมล งามสม 08 9484 9894
สถิติการส่งออกอาหารของไทยไปยังประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ปี 2552 จำแนกตามกลุ่มผลิตภัณฑ์
อันดับ กลุ่มผลิตภัณฑ์ ปริมาณ (ตัน) มูลค่า (ล้านบาท)
1 ข้าวและธัญพืช 765,789.74 14,094.15
2 ผลิตภัณฑ์ประมง 47,143.55 4,020.52
3 ผลิตภัณฑ์จากแป้ง 4,616.25 187.05
4 แป้งและสตาร์ช 15,858.96 169.18
5 ชา กาแฟ โกโก้และผลิตภัณฑ์ 535.35 118.64
6 ผลไม้ 3,017.58 100.92
7 ลูกอม ขนมหวานจากน้ำตาล 1,728.36 70.70
8 เครื่องปรุงรส 959.73 46.39
9 น้ำตาล น้ำผึ้ง 3,108.76 43.12
10 ผัก 1,221.26 41.03
อื่นๆ 2,373.70 98.16
รวม 846,353.24 18,989.86
สถิติการส่งออกอาหารของไทยไปยังประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ปี 2552 จำแนกตามสินค้า
อันดับ สินค้า ปริมาณ (ตัน) มูลค่า (ล้านบาท)
1 ข้าวนึ่ง 527,911.40 10,017.63
2 ข้าวเจ้าที่สีมาบ้างหรือสีทั้งหมดที่มิได้ระบุไว้ที่อื่น 195,804.33 3,317.20
3 ปลาซาร์ดีนเนลล่า ปลาบริสลิงหรือปลาสแปรด- 32,517.28 2,513.19
ที่บรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้
4 ปลาทูน่าบรรจุภาชนะฯ 9,826.46 1,015.88
5 ข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 100% ชั้น 2 7,726.14 236.83
6 กุ้งขาว แช่เย็นจนแข็ง 1,478.64 233.77
7 ข้าวเจ้าขาวอื่น 100% ชั้น 2 12,562.40 226.17
8 สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง 13,606.10 141.99
9 อาหารปรุงแต่งที่ทำจากธัญพืชหรือผลิตภัณฑ์ธัญพืชที่ทำให้พองฟูคั่วอบหรือปิ้ง 3,880.66 136.76
10 ปลาซาร์ดีน-ที่บรรจุภาชนะฯ 1,864.97 135.95
อื่นๆ 39,174.86 1,014.49
รวม 846,353.24 18,989.86
ที่มา : ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร (2553)