เสียงจากครูใต้ กับความพยายามส่งเสริมให้เด็กไทยรักคณิตศาสตร์

ข่าวทั่วไป Wednesday June 9, 2010 08:51 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สสวท. การอบรมคณิตศาสตร์ในโครงการเพิ่มพูนศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดขึ้นเมื่อวันที่ 2 — 6 เมษายน 2553 ณ โรงแรมบีพี สมิหลาบีช อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา มีผู้ที่เข้ารับการอบรมเป็นตัวแทนครูจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งสำหรับการอบรมสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ แบ่งเป็น 3 ระดับชั้น คือ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษาตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนกว่า 100 คน แนวความคิดหลักของการอบรม คือ สสวท. ต้องการให้ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนคณิตศาสตร์ผ่านการลงมือทำกิจกรรม ดังนั้นการดำเนินการอบรมคณิตศาสตร์ของ สสวท. จึงเป็นการจัดกิจกรรมแบบเดียวกับที่ต้องการให้ครูนำไปใช้กับนักเรียนให้แก่ผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีประสบการณ์ด้วยตนเองว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวมีประโยชน์และทำให้เกิดความสนุกสนานเพียงใด และเกิดความคิดที่จะนำไปใช้กับนักเรียนในชั้นเรียนจริงต่อไป ในการอบรมครั้งนี้ นอกจากกิจกรรมการอบรมในชั้นเรียนแล้ว สสวท. ยังได้จัดกิจกรรมคณิตศาสตร์นอกชั้นเรียน คือ กิจกรรมวอร์คแรลลี (Walk Rally) เพื่อเป็นตัวอย่างให้ผู้เข้ารับการอบรมนำไปปรับใช้กับการจัดกิจกรรมกับนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ทำได้ไม่ยาก เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมสำหรับกิจกรรมไม่มากนัก และสถานที่ที่ใช้ก็อาจเป็นบริเวณภายในโรงเรียนก็ได้ โดยครูผู้สอนต้องตั้งปัญหาทางคณิตศาสตร์จากสิ่งที่นักเรียนพบเห็นในบริเวณที่กำหนด แล้วให้นักเรียนหาคำตอบ บางปัญหาอาจเป็นปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่นักเรียนคาดไม่ถึง และทำให้นักเรียนเกิดความสนุกสนาน รวมทั้งฝึกให้นักเรียนคิดวิเคราะห์อีกด้วย ดังเช่นตัวอย่างปัญหาหนึ่งในการอบรมครั้งนี้ เป็นปัญหาที่มาจากสัญลักษณ์ของหาดสมิหลา คือ รูปปั้น “เงือกทอง” ซึ่งมีแผ่นป้ายแสดงประวัติอยู่ที่หน้ารูปปั้นแสดงรายละเอียดว่ารูปปั้นเงือกทองนี้ ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2505 ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นข้อมูลทั่วไป แต่สามารถนำข้อมูลนี้มาตั้งเป็นปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่น่าสนใจได้จากความคิดสร้างสรรค์ของครูผู้สอน โดยในการอบรมครั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมต้องไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับรูปปั้นเงือกทองเพื่อนำมาตอบคำถามว่า “เงือกทองรับราชการอยู่ที่หาดสมิหลามาเป็นเวลานาน จงหาว่าเงือกทองจะเกษียณอายุเมื่อใด” หรือแม้แต่แผนที่เทศบาลนครสงขลาที่ตั้งแสดงอยู่รอบเมืองสงขลานั้น ก็สามารถนำรายละเอียดในแผนที่มาตั้งเป็นปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ ดังเช่นในการอบรมครั้งนี้ที่ให้ผู้เข้ารับการอบรมนำจำนวน 4 จำนวน จากหมายเลขโทรศัพท์ 4 ตัวสุดท้าย ของร้านอาหารร้านหนึ่งที่ปรากฏชื่อในแผนที่เทศบาลนครสงขลา มาดำเนินการบวก ลบ คูณ หรือหารกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็น 24 เป็นต้น จะเห็นว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การสร้างปัญหาทางคณิตศาสตร์จากสิ่งต่าง ๆ ภายในบริเวณ ที่ใช้จัดกิจกรรม ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของครูผู้สอนในการสร้างปัญหาจากสิ่งที่ พบเห็น ให้สอดคล้องกับความรู้ที่นักเรียนมีที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ทำให้กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนเกิดความรู้รวมถึงทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน อันจะทำให้นักเรียนรู้สึกว่าคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ไม่น่าเบื่อ และส่งเสริมให้เด็กไทยรักวิชาคณิตศาสตร์ต่อไป “เมื่อข้าพเจ้าได้รับหนังสือแจ้งจากฝ่ายธุรการของโรงเรียน ว่าให้เข้ารับการอบรมคณิตศาสตร์ ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าเป็นภาระและเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่เมื่อเข้ารับการอบรมแล้ว ข้าพเจ้ากลับมีความรู้สึกว่าข้าพเจ้าจะเสียใจมากถ้าไม่ได้เข้ารับการอบรมในครั้งนี้” นี้คือหนึ่งความคิดเห็นของผู้เข้ารับการอบรม นางชมัยพร ตั้งตน รักษาการหัวหน้าสาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา ผู้เขียน สินีนาฎ ทาบึงกาฬ ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. เรียบเรียง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ