สถาบันพระปกเกล้า จับมือ เอแบค ดันร่าง กม.ผู้ไต่สวนอิสระ และ กม.ว่าด้วยจริยธรรม หวังยกระดับเป็น พ.ร.บ.

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2007 13:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สถาบันพระปกเกล้า
สถาบันพระปกเกล้า จัดระดมสมองครั้งใหญ่ในรอบปี สืบเนื่องกระแสปัจจุบัน ย้ำบทบาทผู้ไต่สวนอิสระและหลักจริยธรรมสากล ต้องสานต่อสังคมไทยเกิดคุณธรรมนำหน้าความรู้
สถาบันพระปกเกล้าร่วมกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญจัดสัมมนาเรื่อง กฎหมายว่าด้วยผู้ไต่สวนอิสระ(Independent Counsel) และ กฎหมายว่าด้วยจริยธรรม (Ethic Law) ระดมนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมือหนึ่งของประเทศ อาทิ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดร.ภูมิ มูลศิลป์ อาจารย์นภัทร์ ทองใบและอาจารย์วิภานันท์ ประสมปลื้ม ทำให้ได้มุมมองใหม่ๆ ในเรื่องของสิทธิหน้าที่รวมไปถึงขอบเขตการทำงานของผู้ไต่สวนอิสระ ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง ตลอดจนกฎหมายทางด้านจริยธรรมที่จะช่วยส่งเสริมให้สังคมของเรามีระเบียบและมีคุณธรรมมากยิ่งขึ้นนั้น จากข้อมูลที่ได้ในการระดมสมองครั้งนี้ สามารถที่จะชี้ประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้
กฎหมายว่าด้วยผู้ไต่สวนอิสระ ควรจะให้เรียกว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการทุจริตและการประพฤติมิชอบ ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภททั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ตลอดจนองค์กรอิสระทุกองค์กร โดยแบ่งแยกการควบคุมการทุจริตดังกล่าวได้ 2 วิธีหลักคือ
1) องค์กรตรวจสอบซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 อันประกอบไปด้วยองค์กรที่เกี่ยวข้องคือ รัฐสภา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ปปช. ศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คตง. และอัยการ
2) การตรวจสอบโดยวิธีพิเศษภายหลังการรัฐประหาร อันได้แก่การยึดและอายัดทรัพย์สินผู้ดำรง
ตำแหน่งทางการเมือง โดยมิได้มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งได้แก่การยึดหรือการอายัดทรัพย์สินโดยอาศัยอำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร หรือการออกประกาศคณะรัฐประหารกำหนดกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินขึ้นใหม่ เช่น การตั้งองค์กร คตส. ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
ในส่วนของการศึกษากฎหมายว่าด้วยจริยธรรมทั้งของประเทศไทยและต่างประเทศ พบว่าในส่วนของการกำหนดให้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินนั้น กฎหมายที่มีอยู่ของประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ใช้ได้ในการป้องกันการฝ่าฝืนจริยธรรม ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอแนะจึงเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องผลประโยชน์ขัดกัน และเรื่องอื่นๆ ดังนั้น
1) ควรกำหนดให้มีการตรากฎหมายว่าด้วยจริยธรรมในระดับ “พระราชบัญญัติ” เพื่อให้มีสภาพบังคับที่ชัดเจน
2) ขอบเขตของพระราชบัญญัติว่าด้วยจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ควรให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ
3) ควรกำหนดให้พระราชบัญญัติว่าด้วยจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็น “กฎหมายกลาง” โดยหากเจ้าหน้าที่รัฐประเภทใด มีการกำหนดจริยธรรมของตนเองไว้ในระดับที่มีมาตรฐานสูงกว่า ก็ให้บังคับตามจริยธรรมเฉพาะเรื่องนั้น แต่หากมีมาตรฐานต่ำกว่า ต้องใช้มาตรฐานจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกจากนั้น กรณีที่จริยธรรมเฉพาะเรื่องไม่ได้กำหนดในเรื่องในไว้ ให้ใช้ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
4) เนื้อหาของพระราชบัญญัติว่าด้วยจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ควรกำหนดให้ชัดเจนและละเอียดเพียงพอที่จะให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบได้ว่าการกระทำได้ การใดไม่ควรกระทำ โดยเทียบเคียงจากกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ นอกจากนั้น ควรมีการกำหนดหลักการทั่วไปของจริยธรรมในทำนองเดียวกันกับหลัก 7 ประการกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมของประเทศอังกฤษ
5) กลไกการบังคับใช้ของกฎหมายว่าด้วยจริยธรรม ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานทำนองเดียวกับสำนักจริยธรรมของรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายระดับประเทศประสานงานหน่วยงานอื่นๆ ในเรื่องการควบคุมตรวจสอบจริยธรรม
6) สภาพบังคับของกฎหมายว่าด้วยจริยธรรม ควรมีการกำหนดให้การฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยจริยธรรมมีโทษทางอาญาในกรณีที่มีการฝ่าฝืนจริยธรรมในเรื่องสำคัญ ส่วนการฝ่าฝืนจริยธรรมที่มีความสำคัญรองลงมา ควรกำหนดให้เป็นโทษปรับทางแพ่งทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดไว้ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอแนะจากกลุ่มนักวิชาการที่ต้องการผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวในบ้านเราเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การจารึกไว้ในแผ่นกระดาษเท่านั้น ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าพลังขุนพลทุกท่านจะมีแรงพอที่จะช่วยกันผลักดันและกระตุ้นให้ใครหลายๆ คนหันมาเทใจให้กฎหมายนี้ผ่านฉลุยและถูกบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญได้หรือเปล่า!!!
ข้อมูลประชาสัมพันธ์ ติดต่อ:คุณสลิตา สมพิทักษ์, คุณจิตต์สิริ กลิ่นบุญนาคคุณเรณู ร่มรื่นวานิชกิจบริษัท พิตอน คอมมิวนิเคชั่น จำกัด โทรศัพท์: 0-2612-2211-7 โทรสาร: 0-2612-2319อีเมล์: salita@piton.biz,
สถาบันพระปกเกล้า:คุณวรรัตน์ ชัยชนะคุณศิริกมล จันทรปัญญา
โทรศัพท์: 0-2527-7830-9 ต่อ 2302, 2306 โทรสาร: 0-2527-7822
อีเมล์: worarat@kpi.ac.th, sirikamon@kpi.ac.th http://www.kpi.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ