กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--กรมศุลกากร
นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 8 — 11 มิถุนายน 2553 กรมศุลกากรเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน ครั้งที่ 19 ณ โรงแรมเชอราตันลากูนา จ.ภูเก็ต เพื่อร่วมมือกันพัฒนาระบบศุลกากรในกลุ่มประเทศสมาชิก และการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านศุลกากร โดยนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานเปิดการประชุม
การประชุมนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอธิบดีศุลกากรจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมาร์ และไทย จะเข้าร่วมประชุมเพื่อกำหนดนโยบาย/ทิศทางดำเนินการทางศุลกากรร่วมกัน ซึ่งสาระสำคัญของวาระการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการติดตามความคืบหน้าแผนงานโครงการต่าง ๆ ของศุลกากรอาเซียนเพื่อพัฒนาให้พิธีการศุลกากรในกลุ่มประเทศอาเซียนมีความสะดวก รวดเร็ว และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ควบคู่กับการเสริมสร้างศักยภาพด้านป้องกันปราบปรามเพื่อวัตถุประสงค์ในการปกป้องสังคมและภูมิภาคแล้ว ยังจะมีการหารือกับศุลกากรประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมทั้งการหารือร่วมกับ ASEAN Customs- US Business Council ด้วย
สำหรับความร่วมมือของศุลกากรอาเซียนที่ผ่านมานั้น นับว่าเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่ง ที่ช่วยผลักดันบทบาทของศุลกากรในการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการปกป้องสังคม ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ดังจะเห็นได้จาก การนำระบบพิกัดศุลกากร ราคา และพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและเป็นสากล การนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้แทนการยื่นใบขนสินค้า การนำระบบบริหารความเสี่ยง และการตรวจสอบหลังการตรวจปล่อยมาใช้แทนการตรวจแบบเดิม ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสินค้าทุกตู้ หรือทุกใบขนสินค้า เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ศุลกากรอาเซียนได้มีโครงการที่จะเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบ บูรณาการสำหรับการผ่านพิธีการศุลกากรนำเข้า/ส่งออกภายในภูมิภาคอาเซียน หรือASEAN SINGLE WINDOW (ASW) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรต่างๆ อันเป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของภูมิภาคอาเซียน
ทั้งนี้ คาดว่า การประชุมอธิบดีศุลกากรอาเซียน ครั้งที่ 19 จะเป็นการประชุมเพื่อสานต่องานตามเจตนารมณ์ของศุลกากรอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทศุลกากรในปัจจุบัน และอนาคต ที่มิได้มุ่งเน้นเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่แต่เพียงผู้จัดเก็บภาษี แต่หากมีบทบาทหลักที่สำคัญในการอำนวยความสะดวกทางการค้าและปกป้องสังคม เพื่อให้การค้าของอาเซียนขยายตัว และการเคลื่อนย้ายสินค้าในภูมิภาคนี้เป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว