กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--โตโยต้า มอเตอร์ส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานบ้านโพธิ์ โรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โดยมี มร.อากิโอะ โตโยดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น มร. อากิระ โอกาเบะ กรรมการบริหารอาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูง เฝ้าฯ รับเสด็จ
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 และมีการขยายตัวทางธุรกิจต่อเนื่องตามลำดับ เป็นบริษัทชั้นนำของโตโยต้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และเครือข่ายโตโยต้าทั่วโลก โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานประกอบรถยนต์สำโรง จ.สมุทรปราการ และโรงงานประกอบรถยนต์เกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา ทำการผลิตรถยนต์นั่ง รถกระบะ และรถอเนกประสงค์ ที่ครองใจลูกค้าชาวไทย และลูกค้าทั่วโลก ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีปริมาณการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ และส่งออกจำนวน 140,151 คัน ในปี พ.ศ.2545 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นกว่า 439,394 คัน ในปี 2549
เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จึงตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์แห่งใหม่ ในประเทศไทย ที่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่กว่า 1,500 ไร่ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก
มร. อากิโอะ โตโยดะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้เติบโตไปพร้อมกับสังคมไทย และมีโอกาสในการส่งเสริมความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศไทย สำหรับโรงงานบ้านโพธิ์นั้น กล่าวได้ว่าเป็นแม่แบบของโรงงานที่มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งของโลก และเป็นโรงงานที่แสดงความก้าวหน้าล่าสุดในด้านต่างๆ ที่นำมาใช้ให้เกิดความปลอดภัย และปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเป็นการเพิ่มคุณภาพ และประสิทธิภาพการผลิตอย่างสูงสุดอีกด้วย”
มร.มิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดกล่าวว่า “โรงงานบ้านโพธิ์ เป็นโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในด้านการอนุรักษ์พลังงาน การจัดการมลภาวะ พันธกิจของเราที่มีต่อโรงงานบ้านโพธิ์ คือ ส่งเสริมความแข็งแกร่งในด้านการบริหาร ระบบการผลิต เพื่อเป็นโรงงานที่มีความสามารถด้านการแข่งขันในระดับโลก อีกทั้งยังตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในชุมชน และสังคมไทย”
นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “โรงงานบ้านโพธิ์นี้ นับเป็นโรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 ของโตโยต้า ในประเทศไทย โดยเริ่มเปิดสายการผลิตเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 มีกำลังการผลิตในระยะแรก 100,000 คันต่อปี ทำการประกอบรถกระบะ ไฮลักซ์ เพื่อตลาดภายในประเทศและการส่งออก เป็นโรงงานที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างยิ่ง ด้วยการนำเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ผนวกกับเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย กล่าวได้ว่า โรงงานบ้านโพธิ์ เป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย”
โรงงานแห่งความสมบูรณ์แบบเพื่อสิ่งแวดล้อม (Ecological Factory)
- การจัดการด้านการอนุรักษ์พลังงาน ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าชนิดพลังงานความร้อนร่วม (Co-Generator) โดยการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า รวมไปถึงการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ที่อาคารสำนักงานเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ภายในสถานที่ทำงาน ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้กว่า 8,500 ตันต่อปี ในส่วนของกระบวนการผลิต การปั๊มชิ้นส่วน และการเชื่อมตัวถัง ได้ติดตั้ง Servo motor และหุ่นยนต์ Servo Robot ซึ่งช่วยประหยัดพลังงาน ทำให้คุณภาพการเชื่อมต่อดีขึ้น และยังสามารถลดสะเก็ดไฟ และควันที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเชื่อมได้อีกด้วย
- การจัดการด้านมลภาวะทางอากาศ นำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากร โดยนำระบบการพ่นสีรถยนต์ที่ใช้น้ำเป็นตัวทำละลาย (Water-borne Paint) ที่มีคุณภาพดีกว่าการใช้สีผสมทินเนอร์ มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการพ่นสีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพ่นสี นอกจากนั้นยังมีการติดตั้งเตาเผาอุณภูมิสูง Regenerative Thermal Oxidizer Incinerator (RTO Incinerator) เพื่อลดปริมาณสารระเหยไฮโดรคาร์บอนและมลภาวะอากาศ ที่ปล่อยออกสู่บรรยากาศ
- การจัดการมลภาวะด้านขยะ ปัจจุบัน โตโยต้า สามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้ถึงกว่า 80% นอกจากนั้นยังมีการลดปริมาณขยะทุกชนิดอย่างต่อเนื่องทุกปี และยังมีนโยบายยกเลิกการนำขยะไปฝังกลบ หรือ Zero landfill ซึ่งโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ได้เริ่มดำเนินโครงการ Zero landfill ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต มีการติดตั้งเครื่องรีดน้ำจากกากตะกอนของระบบบำบัดน้ำทิ้ง หรือ Filter Press และจัดทำโรงตากตะกอนที่ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ เพื่อลดปริมาณกากตะกอนต่างๆ ให้เหลือน้อยที่สุดอีกด้วย
- ด้านการจัดการมลภาวะทางน้ำ โรงงานบ้านโพธิ์ มีกระบวนการบำบัดน้ำที่ใช้แล้วให้ได้คุณภาพ โดยมีดัชนีคุณภาพน้ำทิ้งเข้มงวดกว่าค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนดถึง 20% โดยกระบวนการบำบัดทางเคมี และกระบวนบำบัดทางชีวภาพ รวมถึงมีการติดตั้งระบบรีไซเคิลน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ในการผลิต และการอุปโภคในโรงงานอีกด้วย ทั้งนี้ โตโยต้า ยังมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำทิ้งอย่างต่อเนื่องด้วยระบบการตรวจวัดค่า COD (Chemical Oxygen Online) แบบออนไลน์ ซึ่งมีการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการตรวจวิเคราะห์น้ำทิ้งโดยห้องปฏิบัติการวิเคราะห์คุณภาพน้ำที่ผ่านการรับรอง และมีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว โตโยต้า มีเจตนารมย์ในฐานะองค์กรที่ดีของสังคม โดยได้ดำเนินกิจรรมส่งเสริมสังคมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ “ทั้งนี้ โรงงานบ้านโพธิ์ จะช่วยให้ การกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศ จากการลงทุนและการส่งออกรถยนต์ไปยังต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นประโยชน์ต่อภาพรวมของประเทศ ขณะเดียวกัน เราได้เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อชุมชน อาทิ การสนับสนุนแหล่งน้ำสะอาดเพื่ออุปโภค บริโภค กิจกรรมสาธารณประโยชน์อื่นๆ แก่ วัด โรงเรียน และองค์การบริหารส่วนตำบล ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น” นายศุภรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม
“เนื่องในโอกาสที่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงงานบ้านโพธิ์ นำความปลาบปลื้มแก่เหล่าผู้บริหารและพนักงานของโตโยต้า และนับเป็นความภูมิใจที่ได้สร้างโรงงานแห่งนี้ ให้เป็นโรงงานเพื่อสิ่งแวดล้อม (Ecology Factory) ซึ่งจะเป็นอีกก้าวที่สำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ในการพัฒนาศักยภาพการผลิต ควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม” นายศุภรัตน์ กล่าวในที่สุด
ข้อมูลย่อของโรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า บ้านโพธิ์
ชื่อ โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้าบ้านโพธิ์
สถานที่ตั้ง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการ 13 มีนาคม 2550
พื้นที่ 760,000 ตารางเมตร
กำลังการผลิต 100,000 คัน ต่อปี
ผลิตภัณฑ์ รถกระบะ ไฮลักซ์
มูลค่าการลงทุน 15,000 ล้านบาท