ปภ.เตือนคนไทยเตรียมรับมือภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำยาวนานกว่าทุกปี

ข่าวทั่วไป Thursday June 10, 2010 08:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ปภ. ปีนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ทำให้ปริมาณน้ำฝนที่ตกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนหลักสำคัญของประเทศค่อนข้างน้อย ประกอบกับมีการใช้น้ำเกินกว่าแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้ แม้ว่าระยะนี้มีฝนตกในหลายพื้นที่แต่ส่วนใหญ่ฝนตกในบริเวณพื้นที่ท้ายเขื่อน ทำให้ไม่มีปริมาณน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนเพิ่มเติม จึงไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำของประชาชนได้ รวมทั้งจากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยายังระบุอีกว่าช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนกรกฎาคม 2553 จึงเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำที่รุนแรงมากขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือภาวะวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำ ดังนี้ ประชาชน จัดเตรียมและตรวจสอบภาชนะเก็บน้ำให้อยู่สภาพใช้งานได้ดี หากพบภาชนะเก็บน้ำชำรุดให้ซ่อมแซมทันที เพื่อเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ขาดแคลน รวมถึงใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า ปิดก๊อกน้ำให้สนิททุกครั้งหลังใช้งานหมั่นตรวจสอบท่อส่งน้ำ ก๊อกน้ำและการเปลี่ยนแปลงของเลขมาตรวัดน้ำอย่างสม่ำเสมอ หากพบรอยรั่วซึม ควรซ่อมแซมในทันที รวมทั้งเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยประหยัดน้ำ เช่น ฝักบัว ก๊อกประหยัดน้ำ หัวฉีดประหยัดน้ำ เป็นต้น เกษตรกร ให้ติดตามสถานการณ์น้ำ แผนการจัดสรรน้ำ และสภาพอากาศรวมถึงปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่อย่างใกล้ชิดจะได้วางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และกรอบเวลาที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนด หากอาศัยในพื้นที่นอกเขตชลประทานหรือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ให้เลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อย เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด ถั่วลิสง มันสำปะหลังแทนการทำนาปี งดเว้นการทำนาในพื้นที่ที่จังหวัดกำหนด โดยเฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้ชะลอการและปรับเลื่อนเวลาในการปลูกข้าวนาปีไปออกก่อน โดยให้เริ่มเพาะปลูกในช่วงที่ฝนกระจายตัว (ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม- ต้นเดือนสิงหาคม 2553) จะช่วยป้องกันผลผลิตได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำส่วนเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถปลูกข้าวได้ตามปกติ เนื่องจากในระยะนี้มีฝนตกกระจาย ทำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการทำนา สุดท้ายนี้ หากทุกภาคส่วนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด โดยวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติ นอกจากจะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำได้ในระดับหนึ่งแล้ว ยังทำให้สามารถดำเนินชีวิตท่ามกลางภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงได้อย่างปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ