กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--สกศ.
เมื่อวานนี้ (8 มิถุนายน 2553) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดประชุมคณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติครั้งที่ 1/2553 โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการฯ และรองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธานอนุกรรมการ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดใจในการประชุม โดยเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพครู ที่เป็นปัญหาวิกฤติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตและการใช้ที่ไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งไม่ได้คนเก่ง คนดี มาเป็นครู จึงได้หารือกับท่านนายกรัฐมนตรี
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อให้เรื่องนี้ได้รับการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง นอกจากนั้นผลจากการหารือในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและการประชุมคณะกรรมการนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา (กนป.) ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งที่ประชุม กนป. ตระหนักร่วมกันถึงความสำคัญของวิชาชีพครู และรับหลักการให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุรุศึกษาแห่งชาติ ให้เป็นคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งของ กนป. เพื่อให้เรื่องวิชาชีพครูเป็นวาระแห่งชาติ และเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนกับหลายองค์กร เป็นเรื่องที่ต้องคิดและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของ การผลิต การพัฒนา การสร้างเครือข่าย การวิจัย และการติดตามประเมินผล
“ดังนั้น คณะกรรมการชุดนี้จึงมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการกำหนดนโยบาย และกรอบแนวทางที่ชัดเจน เพื่อเสนอต่อ กนป. และรัฐมนตรีในฐานะที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการฯ จะได้นำแนวคิดและข้อเสนอแนะดังกล่าวไปกำหนดนโยบาย รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน อันจะส่งผลต่อความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สองได้อย่างเป็นรูปธรรม” รมว.ศธ. กล่าวสรุป
รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวขยายความถึงกรอบแนวทางและหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ว่า อำนาจหน้าที่ในการดำเนินการมีอยู่ 3 ประการ คือ 1.การผลิตและการใช้ครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา 2.การพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และ 3.การสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้สถาบันผลิตครู ซึ่งจะแบ่งคณะทำงานตามอำนาจหน้าที่ออกเป็น 3 ชุด ทำงานคู่ขนานกันไป โดยดำเนินการด้วยวิธีการ คือ การกำหนดนโยบาย แผนการผลิต การพัฒนาและการใช้ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทั้งระบบที่สอดคล้องกับความต้องการทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ดำเนินการศึกษา วิจัย พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครู ให้มีคุณภาพ มาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่าย ประสาน ส่งเสริม สนับสนุน สร้างความพร้อมและความเข้มแข็งให้คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่มีอยู่ ตลอดจนการติดตามประเมินผลและพิจารณาเสนอแนะการผลิต พัฒนาครูต่อ กนป.เพื่อให้กำหนดเป็นนโยบายในการดำเนินงานต่อไป