กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--กองประชาสัมพันธ์ กทม.
รองผู้ว่าฯ ธีระชน นำสื่อมวลชนตรวจสอบการซ่อมแซมกล้อง CCTV ที่เสียหายจากการชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สี่แยกราชประสงค์ และแยกศาลาแดง โดย CCTV เพื่อการจราจรสามารถแก้ไขให้ใช้งานได้ตามปกติแล้ว ส่วนกล้องเพื่อความปลอดภัย 9 จุด ใช้งานได้แล้ว 5 ที่เหลือโดนเผาทำลายหนักกำลังซ่อมแซมให้เป็นปกติโดยด่วน
ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารและสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยการซ่อมแซมอุปกรณ์กล้อง CCTV ที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่ที่เคยเป็นที่ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย บริเวณสี่แยกราชประสงค์ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ บริเวณแยกศาลาแดง ซึ่งซ่อมแซมแล้วเสร็จและสามารถใช้งานได้ตามปกติแล้ว
จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง ช่วงวันที่ 12 มี.ค. - 24 พ.ค. 53 ทำให้ระบบโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ด้านการจราจรและด้านความมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งระบบเครือข่ายการสื่อสารด้วยสายเคเบิลเส้นใยนำแสงของกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย ทำให้การสั่งการจราจรและตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยผ่านกล้อง CCTV ได้รับผลกระทบ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นในบริเวณสี่แยกคอกวัว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณแยกเฉลิมไทย มีกล้อง CCTV สายเคเบิลเส้นใยนำแสงและสายนำสัญญาณได้รับความเสียหาย และกล้องบางส่วนถูกหันทิศทางไปด้านอื่น ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติภายหลังผู้ชุมนุมย้ายไปชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์
ส่วนในบริเวณแยกราชประสงค์ภายหลังได้คืนพื้นที่แล้วพบว่า กล้องสั่งการจราจร จำนวน 6 จุด คือ แยกดินแดง แยกใต้ทางด่วนเพชร แยกประตูน้ำ แยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกราชประสงค์ และแยกโรงพยาบาลพญาไท ส่วนใหญ่เป็นระบบไฟฟ้า สายนำสัญญาณ และอุปกรณ์ระบบกล้อง ได้รับความเสียหายบางส่วน ซึ่งแก้ไขให้ใช้งานได้ตามปกติแล้ว
สำหรับกล้อง CCTV เพื่อความปลอดภัยมีความเสียหาย 9 จุด โดยจากทั้งหมดได้รับความเสียหายจากการถูกเผาทำลาย 4 จุด คือ แยกสามเหลี่ยมดินแดง แยกใต้ทางด่วนดินแดง แยกรัชพระราม (รัชดาภิเษกตัดพระราม 4) และแยกชิดลม ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการซ่อมแซม ส่วนอีก 5 จุดคือ แยกประตูน้ำ แยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกเฉลิมเผ่า แยกราชประสงค์ และแยกหลังสวน มีความเสียหายบางส่วน คือ กล้องถูกขโมย สายสัญญาณถูกทำลายซึ่งได้แก้ไขให้ใช้งานถ่ายภาพบันทึกข้อมูลได้ตามปกติแล้ว เหลือเพียงการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ศูนย์ควบคุมสั่งการซึ่งกำลังเร่งดำเนินการ
ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด CCTV ทั้งเพื่อการสั่งการจราจรและเพื่อความปลอดภัย เกือบ 3,000 กล้อง อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดซื้ออีก 12,000 กล้อง และอีก 5,000 กล้อง จะของบประมาณไทยเข้มแข็งจากรัฐบาลมาดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะสามารถติดตั้งครบทั้ง 20,000 กล้องภายในปี 2554