กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--สกว.
ปัญหาแผ่นดินหายเนื่องจากการกัดเซาะชายฝั่งจากคลื่นและลมทะเลมีความรุนแรงมากขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลของไทยทั้งหมด 2,667 กิโลเมตร พื้นที่มีปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงที่สุดของประเทศ คือ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีแนวชายฝั่งทั้งสิ้น 45 กิโลเมตร ในช่วงปี พ.ศ.2510 - 2548 พื้นที่ชายฝั่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปทั้งสิ้น 11,104 ไร่ เป็นเหตุให้หลายครอบครัวต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ครอบครัวที่ยังคงอาศัยอยู่ก็ต้องอพยพหนีน้ำมานานแล้วหลายครั้ง ดังเช่น ชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ ได้อพยพหนีน้ำมาแล้ว 5 — 7 ครั้ง ภายในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย ( สกว. ) ร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการ เร่งศึกษาถึงแนวทางการลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และพัฒนาแบบจำลองเขื่อนสลายคลื่น “ขุนสมุทรจีน 49 A2” ได้สำเร็จ โดยเลือกหมู่บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ เป็นพื้นที่นำร่องในการศึกษา ซึ่งหลังจากได้ทำการติดตั้งโครงสร้างส่วนแรกเสร็จประมาณ 2 เดือน ปรากฏคลื่นทะเลที่เข้ามาหลังเขื่อนเริ่มน้อยลง พร้อมกับมีตะกอนโคลนเข้ามาสะสมตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 30 เซนติเมตร นับเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่มีลักษณะเป็นหาดโคลนเป็นครั้งแรก ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากต่างประเทศอย่างมาก เป็นองค์ความรู้ใหม่และนำไปขอรับสิทธิบัตรแล้ว
อย่างไรก็ตามเพื่อให้สาธารณะชนได้รับทราบข้อมูลและความก้าวหน้าของโครงการฯ เสริมสร้างความรู้ ความตระหนักและจิตสำนึกให้กับประชาชนในการร่วมการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล รวมถึงผลักดันโครงการนำร่องสู่นโยบายการแก้ไขปัญหาในระดับชาติต่อไป องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ จึงได้จัดสัมมนา “ทะเลจะคืนถิ่น แผ่นดินจะหายไป สามสมุทรร่วมใจแก้ไขปัญหา” ขึ้นในพุธที่ 27 มิถุนายน 2550 ณ ภัตตาคารง้วนเฮง บางปู จังหวัดสมุทรปราการ (รายละเอียดตามกำหนดการ)
กำหนดการ
วันที่ 27 มิถุนายน 2550
07.00 น. ออกเดินทาง
09.00-09.15 น. พิธีเปิดการสัมมนา
กล่าวต้อนรับ
โดย นายเจริญ สำราญสุข ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ
กล่าวรายงาน
โดย รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
กล่าวเปิดการสัมมนา
โดย นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
09.15-09.45 น. บรรยายพิเศษ เรื่อง “สถานการณ์และนโยบายการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล”
โดย นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
09.45-10.00 น. พักรับประทานอาหารว่าง
10.00-12.00 น. อภิปราย เรื่อง “รูปแบบการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง”
- แบบคันป้องกันการกัดเซาะและถนน
โดย กรมโยธาธิการและผังเมือง
- แบบปักไม้ไผ่และปลูกป่าชายเลน
โดย คุณสุรพล กฤษณามระ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
- แบบถุงทรายกันคลื่นนอกชายฝั่ง
โดย กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
-แบบกรอยรูปตัวทีกันคลื่นนอกชายฝั่ง
โดย ผศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต
-แบบเขื่อนสลายกำลังคลื่น “ขุนสมุทรจีน 49A2”
โดย รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดำเนินรายการเสวนา โดย นายศิลา ทองคำ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ
12.00-12.15 น. แถลงข่าว “ขุนสมุทรจีน 49A2” ต้นแบบเขื่อนสลายกำลังคลื่นหาดโคลน
โดย นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ
รศ.สุชาตา ชินะจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
นายเจริญ สำราญสุข ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ
12.15-13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.00-15.00 น. การเสวนา เรื่อง “เสียงสะท้อนภาคประชาชนกับการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ
ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน”
โดย ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร บ้านขุนสมุทรจีน สมุทรปราการ
ผู้ใหญ่วรพจ ดวงล้อมจันทร์ บ้านพันท้ายนรสิงห์ สมุทรสาคร
ผู้ใหญ่ปัญญา ช้างเจริญ บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
ผู้ใหญ่ไพบูลย์ รัตนพงศ์ธระ คลองโคลน สมุทรสงคราม
ดำเนินการเสวนา โดย รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
15.00-15.15 น. พักรับประทานอาหารว่าง
15.15-16.45 น. การเสวนา เรื่อง “บทบาทภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการแก้ไขปัญหา
การกัดเซาะและรูปแบบที่ควรดำเนินการร่วมกัน”
โดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้แทน
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการหรือผู้แทน
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาครหรือผู้แทน
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงครามหรือผู้แทน
ดำเนินการเสวนา โดย รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
นายศิลา ทองคำ ส.อบจ.สมุทรปราการ
16.45 น. ปิดการเสวนาและเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ
สำหรับผู้ที่สนใจกรุณากรุณาแจ้งชื่อล่วงหน้าได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์สกว. โทร 02-2701350-4 ต่อ 114,103