กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้ง
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา (Rating Watch Evolving) แก่อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’ ของบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (“TCAP”) รวมทั้งอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘D’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘5’ ของ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (“TBANK”) การประกาศเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาในครั้งนี้สืบเนื่องมาจากการที่ TCAP ประกาศแผนการที่จะขายหุ้นในสัดส่วน 24.99% ใน TBANK ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของ TCAP ให้แก่ Bank of Nova Scotia (“Scotia” ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลที่ ‘AA-/F1+’) ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศแคนาดา และจะทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรของกลุ่มโดยโอนย้ายบริษัทย่อยของ TCAP 8 บริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัทลูกซึ่งดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจประกันทั้งที่ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ธุรกิจลีสซิ่ง และธุรกิจบริหารกองทุน ไปให้แก่ TBANK สัดส่วนใหญ่ในหุ้นของ TBANK และบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของกลุ่มยังคงจะถูกถือโดย TCAP ซึ่งจะยังดำรงสถานะบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มต่อไป
ในวันที่ 20 มีนาคม 2550 ฟิทช์ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิต TCAP และ TBANK เป็นลบ จากเดิมที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ โดยการปรับแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับความสามารถในการทำกำไรที่ถดถอยลง สถานะเงินกองทุนที่อ่อนแอลง และความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีนโยบายในเชิงรุก TCAP และ TBANK เป็นผู้ประกอบการซึ่งดำเนินการในเชิงรุกมากที่สุดในการตลาดเช่าซื้อรถยนต์ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเจริญเติบโตของลูกหนี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30.4% ต่อปี อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของ TCAP และ TBANK ดูเหมือนจะอยู่ในระดับที่อ่อนแอที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์รายหลักรายอื่น สาเหตุหลักเนื่องมาจากการเป็นผู้นำในการแข่งขันด้านราคา ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนที่เกิดจากการขยายสาขาเป็นจำนวนมาก
Scotia จะใช้เงินลงทุนจำนวน 7.1 พันล้านบาท โดยจะทำการซื้อหุ้นสามัญ จำนวน 157.1 ล้านหุ้น จาก TCAP และซื้อหุ้นสามัญใหม่จำนวน 276.3 ล้านหุ้น ซึ่งจะทำการจัดสรรโดย TBANK ในรูปแบบขายเฉพาะเจาะจง ในช่วงกลางปี 2550 ที่ราคา 16.37 บาทต่อหุ้น การซื้อหุ้นดังกล่าวคาดการณ์ว่าจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2550 Scotia คาดการณ์ว่าจะหยุดการปฏิบัติงานของสาขากรุงเทพ และขายสินทรัพย์ของสาขากรุงเทพของธนาคารไปให้ TBANK เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย “One Presence” ของธนาคารแห่งประเทศไทย นอกจากนี้ Scotia ยังมีทางเลือกที่จะเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TBANK ถึง 49% ในอนาคต โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทยเสียก่อน ในคณะกรรมการของ TCAP ซึ่งมีจำนวนกรรมการทั้งสิ้น 10 ที่นั่ง จะมีตัวแทนจาก Scotia จำนวน 3 ที่นั่ง
เงินทุนใหม่จำนวน 4.5 พันล้านบาท จาก Scotia น่าจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้เงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ TBANK ประมาณ 30% TCAP ยังมีแผนการที่จะเพิ่มทุนเพิ่มเติมอีก 4 พันล้านบาทในภายหลังด้วย การปรับเปลี่ยนอันดับเครดิตในอนาคต ขึ้นอยู่กับการพิจารณาผลกระทบ ของการถือหุ้นใน TBANK ของ Scotia ต่อเครือข่ายธนาคารของ TBANK ผลกำไรของธนาคาร กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารความเสี่ยง รวมทั้งช่วยลดทอนความเสี่ยงต่อความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มด้วย TCAP และ TBANK อาจจะได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญในด้านการบริการทางธุรกรรมระดับสากล ธุรกิจธนาคารเพื่อการพาณิชย์และเพื่อลูกค้ารายย่อยและธุรกิจบริการที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคล รวมทั้งทางด้านเทคโนโลยีและการปฏิบัติการ
ในประเทศแคนาดา Scotia ได้เสนอผลิตภัณฑ์ทางด้านการธนาคารและบริการที่ปรึกษาการเงินส่วนบุคคลที่หลากหลาย นอกจากนี้ Scotia Capital ยังเสนอการบริการทางด้านตลาดทุนและผลิตภัณฑ์เพื่อลูกค้าบริษัทในระดับสากลด้วย Scotia นับว่าเป็นธนาคารสัญชาติแคนาดาที่ให้บริการที่มีการกระจายความเสี่ยงที่มีความเป็นสากลในหลายประเทศมากที่สุด โดยมีการปฏิบัติการและการดำเนินงานขนาดใหญ่ในภูมิภาคแคริบเบียนและอเมริกาใต้ รวมทั้งในภูมิภาคเอเชีย ในปี 2549 Scotia ได้ทำการลงทุนซื้อกิจการขนาดเล็กหลายแห่ง ซึ่งรวมถึง ธนาคารสัญชาติเปรู 2 ธนาคาร ธุรกิจปล่อยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยของ Citibank ในสาธารณรัฐโดมินิกัน National Bank of Greece ซึ่งดำเนินงานอยู่ในประเทศแคนาดา ธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ Maple Financial ในประเทศแคนาดา และ Banco Interfin ในประเทศคอสตาริก้า นอกจากนี้ Scotia ได้ประกาศการซื้อกิจการของ Travelers Leasing ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Leasing สัญชาติแคนาดา และ Dehring Bunting & Golding ซึ่งเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์สัญชาติจาไมก้า เมื่อเร็วๆนี้ Scotia ได้รายงานผลกำไรที่ 3.6 พันล้านเหรียญแคนาดา ในปี 2549 เพิ่มขึ้นจาก 3.2 พันล้านเหรียญแคนาดาในปีก่อนหน้า เนื่องจากการเติบโตที่แข็งแกร่งในภาคธุรกิจการธนาคารในต่างประเทศ อัตราเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ในระดับสูงกว่าระดับขั้นต่ำที่กำหนดโดยรัฐบาลและอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเมื่อเปรียบเทียบกับระดับสากล โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ 10.2% ณ สิ้นปี 2549
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, Hong Kong +852 2263 9963