มก.วิทยาเขต กำแพงแสน รับมอบห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมแห่งแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Friday June 11, 2010 11:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน รับมอบ“ ห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียม” จาก บจก.ไทย-ออสท์ อะลูมิเนียม ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ iTAP (สวทช.) เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน เข้าเป็นที่ปรึกษา และพัฒนาจนได้ผลสำเร็จเป็นแห่งแรกของไทย เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือการมอบห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมขึ้นระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ บริษัท ไทย-ออสท์ อะลูมิเนียม จำกัด ณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมี รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจับคู่เทคโนโลยีและการพัฒนาห้องทดสอบดังกล่าว ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยก่อตั้งมานานกว่า 67 ปี ให้ความสำคัญในเรื่องงานวิจัย เพื่อการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ทั้งด้านอาหาร เกษตรและอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานสินค้า และในฐานะที่ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 9 มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติของประเทศ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เป็นอีกวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งมาปีนี้เป็นปีที่ 34 และกำลังจัดตั้งเป็น “ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร”เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับวิทยาเขต รวมถึงการพัฒนามาตรฐานสินค้าต่างๆ ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น “ ในฐานะมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ จะต้องมีผลงานด้านวิจัยนอกเหนือจากการเรียนการสอน ซึ่งงานวิจัยจะถูกนำไปใช้ประโยชน์จริงได้จะต้องมีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อแก้โจทย์ได้ตรงจุด ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากโครงการ iTAP (สวทช.) ถือเป็นสิ่งดีที่บริษัทให้ความไว้วางใจวิทยาเขตกำแพงแสน เชื่อว่าจากความร่วมมือดังกล่าวจะต่อยอดไปสู่ความร่วมมืออื่นๆ เพื่อประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนในฐานะผู้บริโภค รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของประเทศต่อไป ” สืบเนื่องจากบริษัท ไทย-ออสท์ อะลูมิเนียม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตโครงกระจกอะลูมิเนียม มีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพเทียมเท่ากับมาตรฐานการส่งออก ขณะที่มาตรฐานของผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่มีกำหนดขึ้นในประเทศไทย และต้องการผลักดันให้ผลิตภัณฑ์โครงกระจกอะลูมิเนียมของบริษัทได้มาตรฐาน มอก. ทำให้มีความจำเป็นในการสร้างห้องทดสอบขึ้นเพื่อการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ประกอบกับในประเทศไทยเองยังไม่เคยมีห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียม ที่ผ่านมาหากต้องการทดสอบต้องส่งไปทดสอบยังต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง บริษัทฯ จึงได้เข้ามาติดต่อขอรับการสนับสนุนจากโครงการ iTAP เพื่อขอคำแนะนำและความช่วยเหลือในการจัดหาผู้เชียวชาญที่จะเข้าไปให้คำปรึกษาแก่บริษัทฯ รศ.ดร.สันติ ลักษิตานนท์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในฐานะหัวหน้าโครงการและที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 3 ปี แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 เป็นการออกแบบห้องทดสอบ ในปี 2550 ระยะที่ 2 เป็นการจัดสร้างห้องทดสอบ ในปลายปี 2551 และระยะที่ 3 เป็นการประเมินผลและการพัฒนาบุคลากรของบริษัท ในปี 2553 โดยห้องทดสอบนี้ได้จัดสร้างขึ้นพร้อมกับทำการทดสอบไปแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและได้มาตรฐานสากล ซึ่งได้ผ่านการประเมินโครงการอย่างเป็นทางการแล้วจาก สวทช. และบริษัท เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา จนมาถึงขั้นตอนในการส่งมอบห้องทดสอบในวันนี้ ห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมแห่งแรกของไทยที่จัดตั้งขึ้นนี้ มีขนาดยาว 4.30 เมตร สูง 3 เมตร ลึก 1.13 เมตร สามารถรองรับขนาดของชิ้นงานที่จะทดสอบได้มากถึง 4 เมตร x 2.50 เมตร ซึ่งห้องทดสอบที่พัฒนาขึ้นได้ออกแบบให้มีพัดลมในการสร้างความดัน 2 ชุดไม่เหมือนต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างความดันได้โดยปกติระหว่าง 0-2,500 ปาสคาล( pascal)และสูงสุด 10,000 ปาสคาล( pascal =หน่วยวัดความดัน ) ด้านนายทวีศักดิ์ พงษ์วิทยภานุ ประธานกรรมการ บริษัท ไทย-ออสท์ อะลูมิเนียม จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความต้องการและมีความมุ่งมั่นในการจัดตั้งห้องทดสอบโครงกระจกอะลูมิเนียมขึ้นในประเทศไทย เพื่อใช้ผลักดันการสร้างมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ แก้ปัญหาการตัดราคา และคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องของคุณภาพ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดว่าการพัฒนาห้องทดสอบไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับบริษัทเองเท่านั้น แต่สามารถใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โครงกระจกอะลูมิเนียมของทุกๆ บริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย “ ดังนั้น ภายหลังจากที่บริษัทฯได้ดำเนินการจัดสร้างห้องทดสอบเรียบร้อยแล้ว จึงมีความประสงค์ในการมอบห้องทดสอบดังกล่าวให้กับภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม เพื่อใช้ประโยชน์ในการให้บริการแก่บริษัทต่างๆ ที่มีความสนใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป โดยค่าใช้จ่ายการให้บริการขึ้นอยู่กับทางภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ