กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนช่วงเดือนมิถุนายน เป็นช่วงรอยต่อของฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟ้าผ่าในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองบ่อยครั้ง เพื่อความปลอดภัย หากอยู่กลางแจ้ง ห้ามหลบพายุฝนใกล้วัตถุที่มีความสูงโดดเด่น โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง เช่น สระน้ำ ชายหาด ทุ่งนา ให้หลบในอาคารที่มีสายล่อฟ้า งดใช้อุปกรณ์สื่อสาร และหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมทุกประเภทกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้ง ให้นั่งยองๆขาชิดพื้น เพื่อให้ร่างกายสัมผัสพื้นดินน้อยที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า เดือนมิถุนายนเป็นช่วงรอยต่อของฤดูกาล จากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้สภาพอากาศระยะนี้ค่อนข้างแปรปรวน และมักเกิดฟ้าผ่าในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองเป็นประจำ
ซึ่งจากสถิติพบว่ากว่า ๑ ใน ๓ ของผู้ที่ถูกฟ้าผ่ามักเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
ขอแนะวิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ดังนี้ กรณีอยู่กลางแจ้ง ห้ามเข้าไปหลบพายุฝนใกล้วัตถุที่มีความสูงโดดเด่น เช่น ป้ายโฆษณา ต้นไม้สูง เป็นต้น ไม่สวมใส่เครื่องประดับประเภท เงิน ทองคำ นาก ทองแดง หรือสัมผัสกับวัตถุที่เป็นโลหะ ไม่ใช้ร่มที่มีด้านปลายบนเป็นเหล็กแหลม เนื่องจากจะเป็นตัวล่อให้ฟ้าผ่า ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์สาธารณะ เพราะแม้โทรศัพท์จะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ ทำให้แบตเตอรี่ลัดจรและระเบิด ส่งผลให้ผู้ถูกฟ้าผ่าได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ที่สำคัญ ให้หลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมทุกประเภทกลางแจ้งในช่วงที่ฝนตก โดยเฉพาะในจุดเสี่ยงต่างๆ เช่น สระน้ำ ชายหาด สนามกอล์ฟ ทุ่งนา เป็นต้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฟ้าผ่า หากอยู่ในอาคาร ให้หลบในอาคารที่มีสายล่อฟ้า ห้ามขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า บริเวณมุมตึก ระเบียงด้านนอกอาคารหรืออยู่ใกล้หน้าต่างที่เป็นโลหะ งดใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิดทั้งโทรทัศน์ วิทยุ อินเตอร์เน็ท คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์แบบมีสาย เครื่องทำน้ำอุ่น ถอดปลั๊กไฟให้เรียบร้อยเพราะฟ้าอาจจะผ่าลงมาภายนอกอาคาร ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระชากและวิ่งมาตามสายไฟ สายโทรศัพท์ เสาอากาศ ท่อน้ำประปา ส่งผลให้เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดและผู้ที่กำลังใช้งานอยู่ได้รับอันตราย รวมถึงห้ามอาบน้ำ สระผม ล้างจานในบริเวณใกล้แนวฟ้าผ่า เพราะน้ำเป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างดีที่จะทำให้เกิดอันตรายได้ กรณีขับรถ ปิดประตูและกระจกหน้าต่างรถให้มิดชิด ถ้าฟ้าผ่าลงบริเวณรอบรถ ห้ามวิ่งหนีออกจากรถอย่างเด็ดขาด เพราะกระแสไฟฟ้าจะไหลไปตามผิวโลหะของตัวถังรถลงสู่พื้นดิน ห้องโดยสารรถจึงเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด หลีกเลี่ยงการจอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า กรณีอยู่กลางแจ้งในเขตฟ้าผ่า แต่ไม่สามารถหาที่หลบได้ให้นั่งยองๆเก็บมือทั้ง ๒ ข้าง แนบติดเข่า ซุกศีรษะเข้าไประหว่างขาให้ร่างกายมีลักษณะกลม และเขย่งปลายเท้า เพื่อให้ร่างกายสัมผัสพื้นดินน้อยที่สุด ห้ามหมอบหรือนอนราบไปกับพื้น เพราะหากเกิดฟ้าผ่าในบริเวณใกล้เคียง น้ำบนพื้นจะเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดอันตรายได้ ท้ายนี้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า หากเกิดฝนฟ้าคะนองให้รีบหลบในอาคารที่มั่นคงปลอดภัย และรออยู่ในที่หลบอย่างน้อย ๓๐ นาที หลังจากพายุฝนฟ้าคะนองสลายตัวแล้ว