กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--แกรนท์ ธอร์นตัน
ในหลายปีที่ผ่านมา เหล่านักลงทุนและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมต่างมีความต้องการให้กลุ่มบริษัทมหาชน มีความโปร่งใสในการรายงานทางการเงินในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งความต้องการนี้ส่งผลกระทบต่อทัศนคติของธุรกิจเอกชนในปัจจุบัน โดยรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติที่จัดทำโดยแกรนท์ ธอร์นตัน ปี 2010 หรือ Grant Thornton International Business Report (IBR) 2010 ครั้งล่าสุด (ภาพประกอบ 1) นำเสนอว่ากว่าครึ่งของเจ้าของธุรกิจเอกชนทั่วโลก (Privately Held Businesses: PHBs) (52%) เชื่อว่าความโปร่งใสในระดับที่สูงขึ้นนั้นเป็นประโยชน์สำคัญของการรายงานทางการเงิน การสำรวจดังกล่าวนำเสนอทัศนคติของเจ้าของธุรกิจกว่า 7,400 คนจากกลุ่มเศรษฐกิจ 36 กลุ่ม ซึ่งระบุว่าธุรกิจต่างๆ ในไอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน มีความกระตือรือร้นที่สุดต่อความโปร่งใสในระดับที่สูงขึ้น และ 85% ของธุรกิจระบุว่าความโปร่งใสในระดับที่สูงขึ้นเป็นประโยชน์สำคัญประการหนึ่ง
อเล็กซ์ แมคบีธ ผู้บริหารระดับสูง ของแกรนท์ ธอร์นตัน อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า "ผลการสำรวจดังกล่าวบ่งชี้ว่าแม้โดยทั่วไปแล้ว ธุรกิจเอกชนจะไม่จำเป็นต้องรายงานข้อมูลทางการเงินหรือโครงสร้างต่างๆ ทางกฎหมาย แต่เจ้าของธุรกิจยอมรับมากขึ้นว่าในการแข่งขันและเพื่อการเติบโต ตนจะต้องแสดงความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นและมีความพร้อมเมื่อเทียบเคียงกับคู่แข่งขันของตน"
ทั้งนี้ ธุรกิจต่างๆ ยอมรับว่าการรายงานทางการเงินจะช่วยในการเติบโตของธุรกิจ โดย 37% ระบุว่า มีการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ง่ายดายยิ่งขึ้น พร้อมด้วยการอำนวยความสะดวกในการค้าขายกับต่างประเทศ (17%)
ในขณะเดียวกัน เจ้าของธุรกิจได้รับการสอบถามว่าเคยรับทราบถึงมาตรฐานบัญชีสากลสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (International Financial Reporting Standards for Small and Medium sized Enterprises: IFRS for SMEs) หรือไม่ ซึ่ง IFRS for SMEs นำเสนอหลักการทางบัญชีที่ได้รับการยอมรับจากสากล โดยมีการพัฒนาให้เรียบง่ายเพื่อธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะ ทั้งนี้ อเล็กซ์ แมคบีธ กล่าวว่า "การนำ IFRS for SMEs มาใช้จะช่วยให้ธุรกิจมีความโปร่งใสยิ่งขึ้นและสามารถเปรียบเทียบได้โดยตรงกับคู่แข่งในธุรกิจประเภทใกล้เคียงกันจากทั่วโลก จึงเป็นวิธีการที่ทั่วโลกนำมาใช้เมื่อต้องการความโปร่งใสในระดับที่สูงขึ้น"
ในการนี้ 53% ของเจ้าของธุรกิจทั่วโลกกล่าวว่าตนเคยได้ยินเกี่ยวกับ IFRS for SMEs มาแล้ว เมื่อมองในระดับภูมิภาค เจ้าของธุรกิจในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มที่จะรับทราบมากกว่า (67%) โดยไอร์แลนด์อยู่ในอับดับสูงสุด (86%) ตามด้วยสเปน (79%) ฟินแลนด์ (78%) และสหราชอาณาจักร (76%) ในทางกลับกัน เจ้าของธุรกิจในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มต่ำที่สุดในการรับทราบเกี่ยวกับ IFRS for SMEs โดยญี่ปุ่น (19%) และไทย (18%) มีแนวโน้มที่จะรับทราบน้อยที่สุด
ในพื้นที่ซึ่งเจ้าของธุรกิจได้รับทราบเกี่ยวกับมาตรฐานบัญชี IFRS for SMEs เมื่อสอบถามเจ้าของธุรกิจว่าต้องการให้ประเทศของตนรับเอา IFRS for SMEs มาใช้หรือไม่ 52% ของเจ้าของธุรกิจทั่วโลกกล่าวว่ามีความต้องการ โดยเม็กซิโก (89%) ฟิลิปปินส์ (85%) และชิลี (84%) มีความสนับสนุนมากที่สุด ทั้งนี้ บางประเทศมีการเตรียมการเพื่อนำเอามาตรฐานบัญชีดังกล่าวมาใช้แล้ว ในขณะที่ประเทศอื่นๆ (รวมถึงฟิลิปปินส์) มีการริเริ่มใช้มาตรฐานบัญชีดังกล่าวแล้ว
อเล็กซ์ แมคบีธ อธิบายว่า "ธุรกิจทั่วโลกที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งต้องดำเนินตามมาตรฐานบัญชี IFRS อย่างเต็มรูปแบบจะมีความยินดีที่มาตรฐานใหม่มีความยาวเพียงหนึ่งในสิบของ IFRS เต็มรูปแบบ ทำให้รายการที่ต้องแสดงมีประมาณ 300 รายการแทนที่จะเป็น 3,000 รายการดังที่ใช้ในปัจจุบัน"
นอกจากนี้ การลดต้นทุนยังถือเป็นประโยชน์อีกหนึ่งประการของการรายงานทางการเงิน โดย 44% ของธุรกิจทั่วโลกและ 15 ประเทศระบุว่าเป็นข้อประโยชน์ที่ได้รับความนิยมที่สุด ในไอร์แลนด์ 89% ของธุรกิจ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดจากทุกประเทศ ระบุว่าต้นทุนที่ลดลงเป็นคุณประโยชน์ประการหนึ่ง ตามด้วยมาเลเซีย (85%) และเดนมาร์ค (80%) ส่วนญี่ปุ่น (3%) และบอตสวาน่า (11%) มีแนวโน้มต่ำที่สุดที่จะกล่าวว่าต้นทุนที่ลดลงเป็นคุณประโยชน์จากการรายงานทางการเงิน ในระดับภูมิภาคแล้ว ประเทศในกลุ่ม NAFTA, สหภาพยุโรป และยุโรปตอนเหนือ มีแนวโน้มสูงที่สุดที่จะกล่าวถึงต้นทุนที่ลดลง (53%, 51% และ 50% ตามลำดับ) ในขณะที่ละตินอเมริกาและเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มต่ำที่สุด (33% ทั้งสองภูมิภาค)
ทั้งนี้ หนึ่งในสามของธุรกิจทั่วโลกระบุว่าขั้นตอนที่พัฒนาให้เรียบง่ายขึ้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรายงานทางการเงิน ซึ่งเบลเยียมเป็นเพียงประเทศเดียวที่ระบุว่าขั้นตอนที่พัฒนาให้เรียบง่ายเป็นประโยชน์อันสูงสุด (50%) ในขณะที่ไอร์แลนด์ (87%) และมาเลเซีย (79%) ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าได้ระบุว่าขั้นตอนที่พัฒนาให้เรียบง่ายเป็นเพียงประโยชน์ส่วนหนึ่งของการรายงานทางการเงิน
หมายเหตุ: IFRS for SMEs เป็นมาตรฐานทางบัญชีสำหรับบริษัทเอกชนที่ได้รับการพัฒนาให้เรียบง่ายจาก IFRS ฉบับเต็มรูปแบบ โดยมีเนื้อหาน้อยกว่า 230 หน้าเมื่อเปรียบเทียบกับประมาณ 3,000 หน้าของ IFRS ฉบับเต็มรูปแบบ ดังนั้น IFRS for SMEs จึงเป็นมาตรฐานที่พร้อมสรรพซึ่งมีการพัฒนาหลักสำคัญหลายข้อให้เรียบง่ายยิ่งขึ้นเพื่อการระบุและประเมินทรัพย์สิน หนี้สิน รายรับและรายจ่าย โดยลดทอนหัวข้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมลงไป ตลอดจนจำนวนของรายการที่จะต้องแสดง ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเอกสารเผยแพร่โดยคณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board: IASB) เมื่อปี 2009 นั้น เป็นครั้งแรกที่ปัจจุบันได้มีกรอบการรายงานทางการเงินสำหรับบริษัทเอกชนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน เพื่อการประเมินการดำเนินการและการตัดสินใจด้วยพื้นฐานที่เสมอกัน
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ: เอียน แพสโค
กรรมการบริหาร แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย โทร: 02 205 8222 อีเมล์: ian.pascoe@gt-thai.com
ลักษณ์พิไล วรทรัพย์
ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดและการสื่อสาร แกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย โทร: 02 205 8142 อีเมล์: lakpilai.worasaphya@gt-thai.com