กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๐ ลำปางดำเนินโครงการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวขั้นรุนแรง(LAMP EX-๑๐) ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๓เพื่อทดสอบความพร้อมของแผนป้องกันฯ ระบบปฏิบัติการ และระบบบัญชาการเหตุการณ์ ณ จุดเกิดเหตุรวมถึงเพิ่มศักยภาพให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินได้อย่างเป็นระบบ
นายอนุสรณ์ แก้วกังวาล ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๐ ลำปาง เปิดเผยว่าพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปางตั้งอยู่บริเวณรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลกจึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวในแต่ละครั้งจะสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ดังนั้น ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ๑๐ ลำปางจึงได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในเขตพื้นรับผิดชอบ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุแผ่นดินไหวขั้นรุนแรง (LAMP EX-๑๐) ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปีพ.ศ. ๒๕๕๓ โดยกำหนดฝึกซ้อมแผนในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX ) เพื่อแบ่งมอบภารกิจ กำหนดระบบการปฏิบัติ และหน้าที่ความรับผิดชอบ ในวันอังคารที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒๓ ณ ห้องเวียงพนา โรงแรมเวียงทอง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง และฝึกซ้อมแผนฏิบัติการจริง(Field Training Exercire : FTX) ในวันพุธที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.
ณ ลานอเนกประสงค์แยกเพ็ญทรัพย์ (ตลาดคลองถม) อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง โดยจำลองสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด ๗.๖ ริกเตอร์ ส่งผลให้บ้านเรือน สิ่งสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหาย รวมถึงคลังน้ำมันและโรงบรรจุก๊าซรั่วไหลจนเกิดเพลิงลุกไหม้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก จึงต้องระดมกำลังจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ
ในพื้นที่ความรับผิดชอบของศูนย์ฯเข้าเผชิญเหตุ ช่วยเหลือ และอพยพผู้ประสบภัย ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนฯดังกล่าวเป็นการทดสอบความพร้อมของแผนป้องกันฯ ระบบปฏิบัติการ และระบบบัญชาการเหตุการณ์ ณ จุดเกิดเหตุ รวมถึงเพิ่มศักยภาพให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า การระงับเหตุ การควบคุมสถานการณ์ การติดต่อสื่อสาร การบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การช่วยเหลือและอพยพผู้ประสบภัยออกจากที่เกิดเหตุได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะเป็นการกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวแล้ว
ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบมาตรฐานความปลอดภัยของภาครัฐให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมปภ.