กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--มทส
ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยรับนักเรียนจากภาคใต้ที่สำเร็จการศึกษา ชั้น ม. 6 เข้าศึกษาเพิ่มเติมในทุกหลักสูตร รวม 80 ที่นั่ง ในปีการศึกษา 2550 นี้ โดยนักเรียนจากพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล ที่ได้รับคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรี 25 หลักสูตรของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จำนวน 25 คน จะได้รับทุนการศึกษาประกอบด้วย ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียม ค่าหอพักและค่าใช้จ่ายรายเดือน ในระยะเวลา 4 ปีการศึกษา (จบหลักสูตร) โดยจัดหลักสูตรละ 1 ทุน และให้พิจารณาจัดสรรที่นั่งให้แก่นักเรียนในพื้นที่ดังกล่าวอีก 55 ที่นั่ง โดยให้มหาวิทยาลัยจัดให้อยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยฟรีในเบื้องต้น และให้พยายามรณรงค์หากองทุนสนับสนุนจากหน่วยงานที่ให้ความสำคัญทางการศึกษา หรือพ่อค้า คหบดี ที่ต้องการสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษาและค่าใช้จ่ายรายเดือนต่อไป รวมแล้วเป็นจำนวน 80 คน ซึ่งเป็นตัวเลขมหามงคลสำหรับปี พ.ศ. 2550
ในการนี้ มทส ได้จัดสรรที่นั่งให้แก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทุกกลุ่มสาขาวิชาที่เปิดสอน จำแนกได้ดังนี้ กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ 50 คน เทคโนโลยีการเกษตร 6 คน เทคโนโลยีสารสนเทศ 6 คน เทคโนโลยีการจัดการ 6 คน สาธารณสุขศาสตร์ 6 คน วิทยาศาสตร์การกีฬา 6 คน จำนวนรวม 80 คน
รศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดี มทส ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีมีบทบาทเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค มหาวิทยาลัยของชาติ และมหาวิทยาลัยนานาชาติ การที่สภามหาวิทยาลัยได้มีมติดังกล่าวเป็นการเพิ่มบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยของชาติ หมายความว่านักเรียนจากทุกจังหวัดทั่วประเทศมีโอกาสเข้าศึกษาที่ มทส ได้ สำหรับกลุ่มนักเรียนทุนจากภาคใต้ที่จะรับเข้าศึกษาที่ มทส เพิ่มเติมนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้เตรียมมาตรการไว้แล้ว เช่น ประสานกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการคัดเลือกนักเรียน เตรียมชั้นเรียนเพื่อการสอนเสริมในบางกลุ่มสาระวิชา เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เป็นต้น ในกรณีที่นักเรียนดังกล่าวไม่มีโอกาสได้เรียนมาก่อนเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ผู้ปกครองและนักเรียนที่สนใจโปรดติดต่อสอบถามรายละเอียดจากผู้อำนวยการโรงเรียนหรืออาจารย์แนะแนว “ มหาวิทยาลัยเชื่อว่าความหลากหลายของนักศึกษา จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา โดยนักศึกษาจะได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีจากกันและกัน กับทั้งลูกไทย เลือดไทย จะเกิดที่ไหนๆ ก็เป็นคนไทยด้วยกัน ควรได้รับโอกาสเท่าเทียมกัน ” ดร.ประสาท สืบค้า กล่าวสรุป.