กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งเป้าดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ๘๕ หมู่บ้านให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอนต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ ตลอดจนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปบริหารจัดการสาธารณภัยในท้องถิ่นของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายธีรยุทธ์ จันทร์ดิษฐวงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีลักษณะภูมิประเทศเป็นป่าเขาลาดชัน ประชาชนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามหุบเขา จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่มในช่วงฤดูฝน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติก็คือ การเสริมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติแก่ชุมชน ให้ชุมชนร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมดำเนินการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้วยตนเองโดยใช้องค์ความรู้ที่สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอน จึงได้ดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ดำเนินการไปแล้ว ๕ หมู่บ้านเสี่ยงภัย จำนวน ๒ รุ่น รวม ๑๒๐ คน และได้รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) ดำเนินการฝึกอบรมใน ๑๓ หมู่บ้านเสี่ยงภัย จำนวน ๔ รุ่น รวม ๒๐๐ คน ในช่วงระหว่างวันที่ ๗ - ๒๕ มิถุนายน ๒๕๕๓ และได้รับสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งดำเนินการฝึกอบรมเพิ่มเติมอีก จำนวน ๕ รุ่น รวม ๒๕๐ คน โดยจะดำเนินการในเดือนมิถุนายน - สิงหาคม ๒๕๕๓ ซึ่งเน้นให้ชุมชน/หมู่บ้าน จัดทำแผนด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับหมู่บ้าน ทั้งนี้ ตั้งแต่ ปี ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบัน สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ดำเนินการไปแล้ว ๔๖ หมู่บ้านเสี่ยงภัย และจะดำเนินการต่อเนื่องอีก ๓๙ หมู่บ้านเสี่ยงภัย รวม ๘๕ หมู่บ้าน ให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการและขั้นตอน การจัดการภัยพิบัติ แนวคิดและกระบวนการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีศักยภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติในพื้นที่ วางแผนและจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปบริหารจัดการสาธารณภัยในท้องถิ่นของตนเอง และขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022432200 กรมป้องกันฯ