กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ธ.ก.ส.
ธ.ก.ส. ร่วมกรมพัฒนาที่ดินจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. เป้าหมาย 75 แห่ง ทั่วประเทศ เน้นสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและให้มีการจัดการดินและน้ำอย่างถูกต้องเพื่อการลดค่าใช้จ่ายในภาคการผลิตและครัวเรือน ภายใต้พื้นฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น
ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. และนายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ธ.ก.ส. โดยมุ่งเสริมสร้างศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 75 แห่ง ทั่วประเทศ
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยหลังพิธีลงนามว่า การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงบวก เช่น รู้จักลดค่าใช้จ่ายในการผลิต ลดค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือน มีจิตสำนึกในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะเน้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันภายใต้พื้นฐานของวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งและประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ทั้งนี้ ภารกิจในการทำงานร่วมกัน กรมพัฒนาที่ดินจะให้บริการข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี มาตราส่วน 1 : 4,000 หรือภูมิสารสนเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการพัฒนาแปลงเกษตรกรรม และจัดทำโฉนดพัฒนาที่ดิน สร้างความร่วมมือในการพัฒนาเครือข่ายหมอดินอาสาเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดิน การใช้เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีทางการเกษตร และสนับสนุนการขุดสระน้ำในแปลงเกษตรกรรม โดยจะดำเนินงานในพื้นที่ทั่วประเทศ 75 แห่ง ใน 75 จังหวัด ภายในระยะเวลา 5 ปี
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ ธ.ก.ส. ได้กำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรมเพื่อให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พัฒนาระบบกลุ่มลูกค้าและเครือข่ายโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยมีเป้าหมายส่งเสริมชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นที่ 1 (พึ่งพาตนเอง) เพิ่มเป็น 2,700 ชุมชน จากปี 2552 ที่มีจำนวน 2,124 ชุมชน เพื่อขยายผลให้สมาชิกชุมชนที่เป็นเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ทุกคนเข้าร่วมเวทีเรียนรู้ร่วมกัน ส่งเสริมชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นที่ 2 (พึ่งพาซึ่งกันและกัน) ต่อเนื่องจำนวน 313 ชุมชน และส่งเสริมชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงขั้นที่ 3 (การสร้างเครือข่าย) จำนวน 75 เครือข่าย