กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--เอสซีจี
เอสซีจี จับมือสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดตัวสุดยอดหุ่นยนต์กู้ภัย ฝีมือ 2 ทีมเยาวชน ได้แก่ ทีม BART LAB Rescue มหาวิทยาลัยมหิดล และทีม iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หลังพัฒนาสมรรถนะหุ่นยนต์เต็มกำลัง พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยสู้ศึกป้องกันแชมป์โลกสมัยที่ 5 ในการแข่งขัน World RoboCup 2010 วันที่ 21 - 24 มิถุนายนนี้ ที่ประเทศสิงคโปร์
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship กล่าวว่า เอสซีจีส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2553 นี้ ได้ส่ง 2 ทีมเยาวชนไทย เข้าร่วมแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก World RoboCup Rescue 2010 ได้แก่ ทีม BART LAB Rescue นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของแชมป์ประเทศไทย ปี 2552 และทีม iRAP_PRO นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เจ้าของแชมป์ประเทศไทย ปี 2551 และแชมป์โลก ปี 2552
“เราเชื่อว่าเด็กไทยมีความสามารถไม่แพ้ชาติใดในโลก ถ้าได้รับการพัฒนาอย่างถูกทาง ที่ผ่านมาเยาวชนไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพเป็นอย่างดี โดยคว้าแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลกติดต่อกันถึง 4 สมัย สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ และสร้างความภาคภูมิใจคนไทยอย่างยิ่ง สำหรับการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก World RoboCup Rescue 2010 ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ วันที่ 21 — 24 มิถุนายนนี้ ทีมเยาวชนไทยทั้ง 2 ทีม มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นสูงมากที่จะนำชัยชนะกลับมา เพื่อรักษาแชมป์โลกให้ประเทศไทยเป็นสมัยที่ 5” นางวีนัส กล่าว
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วงการหุ่นยนต์ไทยมีพัฒนาการที่ดีและมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศอื่นๆ ก็ตื่นตัวในเรื่องการคิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความพร้อม ทั้งรูปร่างที่หลากหลาย และประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้น เช่น การพัฒนาระบบเคลื่อนไหว การวาดแผนที่อัตโนมัติ การติดกล้องที่มีความละเอียดสูง และการใช้ระบบการสื่อสารแบบไร้สาย (Wireless LAN) เป็นต้น
“ความสำเร็จที่ผ่านมา เป็นการยกระดับวงการหุ่นยนต์กู้ภัยของไทยให้ได้รับความสนใจและถูกจับตามองมากขึ้น และเพื่อนำมาต่อยอดช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์ต่างๆ ทางสมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นสานต่อโครงการยุทธศาสตร์หุ่นยนต์ ตามแผนแม่บทหุ่นยนต์แห่งชาติ ผลักดันให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้งานจริงในอนาคต” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว
ผศ.ชัชชัย เสริมพงษ์พันธ์ รองคณบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นอีกหนึ่งเวทีที่ทำให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี รวมทั้งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับต่างชาติ หลังจากที่ประเทศไทยครองแชมป์ติดต่อกันมาหลายปี ทำให้เยาวชนไทยต้องพัฒนาฝีมือและประสิทธิภาพหุ่นยนต์ให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกคนต่างมีความตั้งใจในการฝึกซ้อมอย่างดีมาก ทำให้มั่นใจว่าทีมเยาวชนไทยมีศักยภาพพร้อมสำหรับการแข่งขันกับนานาประเทศ อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ความร่วมมือของทุกคน และการทำงานเป็นทีม ซึ่งก็เป็นหัวใจสำคัญในการก้าวไปสู่ความสำเร็จเช่นกัน
นายวรทิต อ่อนประเสริฐ หรือน้องบุ้ค หัวหน้าทีม BART LAB Rescue มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า หลังจากได้เป็นแชมป์ประเทศไทย สมาชิกได้ร่วมกันคิดค้น พัฒนา เพิ่มเทคนิค เพื่อรองรับเหตุการณ์ได้ทุกสถานการณ์ การวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยของทีม BART LAB Rescue ได้นำวิทยาการความรู้และเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์เข้ามาเพิ่มความสามารถของหุ่นยนต์ในการค้นหา ระบุสถานะ และให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น โดยมีความมุ่งหวังสูงสุดที่จะพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยให้เป็นที่เชื่อถือ สามารถนำไปใช้งานได้จริงเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และมั่นใจว่าประสิทธิภาพและความฉลาดของหุ่นยนต์จะสามารถทำคะแนนได้ดีในการแข่งขันระดับโลก
นายคฑาวุฒิ อุชชิน หรือน้องโฟม หัวหน้าทีม iRAP_PRO เล่าว่า ทุกคนในทีมได้เตรียมความพร้อมในการแข่งขันอย่างดีมาก มีการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน จากการแข่งขันที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาหุ่นยนต์กู้ภัยให้มีสมรรถนะสูงสุด โดยมีหุ่นยนต์กู้ภัยทั้งหมด 3 ตัว ประกอบด้วย หุ่นยนต์บังคับด้วยมือ 2 ตัว และหุ่นยนต์อัตโนมัติ 1 ตัว ใช้ระบบสายพานในการขับเคลื่อน สามารถเคลื่อนที่ได้ทุกสภาพผิว จุดเด่นคือแขนกลที่มีกล้องและเซนเซอร์จำนวนมากติดอยู่ และมีความคล่องตัวสูง กำหนดทิศทางการเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ หมุนได้ 360 องศารอบตัว มีการคำนวณจุดศูนย์ถ่วงที่ดียิ่งขึ้น สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกสภาพผิวอย่างราบรื่น และสามารถยืดความยาวเพื่อเพิ่มขอบเขตการมองเห็นได้ เชื่อว่าเป็นจุดแข็งของเราที่จะทำให้มีโอกาสคว้าแชมป์โลกได้อีกครั้ง
World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 14 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup @Home) และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) โดยปีนี้ การแข่งขัน World RoboCup 2010 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 - 24 มิถุนายน 2553 ที่ประเทศสิงคโปร์ มีผู้สมัครเข้าแข่งขันรวมทุกประเภทกว่า 3,000 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และมีผู้เข้าแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย 20 ทีม จาก 9 ประเทศ ทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย อิหร่าน จีน เม็กซิโก มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุน 2 ทีมเยาวชนไทย ได้แก่ ทีม BART LAB Rescue มหาวิทยาลัยมหิดล (แชมป์ประเทศไทย ปี 2552) และทีม iRAP_PRO มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (แชมป์ประเทศไทย ปี 2551 และแชมป์โลก ปี 2552)
Thailand Rescue Robot Championship โครงการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เอสซีจีริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2547 มีเป้าหมายในการสนับสนุน และส่งเสริมให้เยาวชนไทยพัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ที่ผ่านมาเอสซีจีได้สนับสนุนทีมหุ่นยนต์กู้ภัยเข้าร่วมแข่งขันระดับโลกมาโดยตลอด และตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาได้ถึง 4 สมัยซ้อน