ดูบอลโลกอย่างไรให้ “พอประมาณ”

ข่าวทั่วไป Monday June 14, 2010 09:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ดูบอลเพลิน ตื่นสาย ขาดเรียน พฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนช่วงเทศกาลบอลโลก “ครูพอเพียง” แนะวิธีแก้ปัญหา โดยให้นักเรียนวิเคราะห์ผลกระทบจากการดูบอลด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเพิ่มช่วงเวลาการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ลดโอกาสดูบอลกลางดึก ด้าน “แกนนำนักเรียน” เผยเคล็ดลับวิธีดูบอลโดยไม่ให้เสียการเรียน คือ “ความพอดี” อาจารย์อันเร ไชยเผือก ครูผู้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โรงเรียนลาซาลจันทบุรี โรงเรียนเครือข่ายในโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า ในช่วงฤดูการแข่งขันฟุตบอลโลก ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น คือ นักเรียนดูฟุตบอลจนดึก มาโรงเรียนสาย นอนหลับในห้องเรียน รวมถึงอาจจะมีการลาหยุดเรียนจำนวนมากว่าปกติ วิธีจัดการเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แนวทางหนึ่งที่อาจารย์อันเร นำมาใช้และได้ผลดี คือ การจัดกระบวนการให้นักเรียนคิดวิเคราะห์โดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการตั้งคำถาม และหาคำตอบถึงผลกระทบเชิงบวก และลบจากการดูฟุตบอลโลกด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นการให้ความรู้โดยชี้ให้เห็นข้อดี และข้อเสียของการดูบอลดึกๆ เมื่อให้ความรู้แล้วคุณธรรมก็จะตามมา เพราะนักเรียนจะเริ่มเข้าใจว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในบทบาทของการเป็นนักเรียนและลูกที่ดีของพ่อแม่ พร้อมกับพยายามชี้แนะให้นักเรียนคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ว่าแม้จะพลาดการดูบอลในช่วงที่มีการถ่ายทอดสด แต่นักเรียนยังสามารถดูเทปการแข่งขันได้ ส่งผลให้นักเรียนรู้จักประมาณตนในเรื่องการดูทีวีมากขึ้น “ผมจะให้นักเรียนเขียนให้ผมดูว่าเลยว่าใน ๒๔ ชั่วโมงเขาทำอะไรบ้าง อ่านหนังสือกี่ชั่วโมง นอนกี่ชั่วโมง ช่วยพ่อแม่หรือเปล่า ดูทีวีกี่ชั่วโมง ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้ครูเห็นภาพชัดเจนว่าเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับเรื่องอะไร เด็กกลุ่มเสี่ยงมักใช้เวลาตอนกลางคืนออกไปซิ่งมอเตอร์ไซด์ บางคนดูบอลดึกๆแทบทุกคืน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเรียน” อาจารย์อันเร กล่าว พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า อีกแนวทางหนึ่ง คือ ครู ควรต้องหากิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และสร้างสรรค์ แต่ไม่น่าเบื่อ มาให้นักเรียนได้ทำระหว่างที่อยู่ในโรงเรียน โดยเฉพาะกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้ออกแรงมากๆ เช่น ที่โรงเรียนลาซาล จะให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมคนเอาถ่าน ที่ให้เด็กนักเรียนเขามาช่วยกันเผาถ่าน ทำสบู่ถ่าน ซึ่งใช้เวลาในการทำนาน และบางครั้งต้องนอนค้างที่โรงเรียน หรือชักชวนนักเรียนเล่นกีฬาที่ต้องมีการฝึกซ้อมกันที่โรงเรียน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาซ้อมกัน ๒ - ๓ ทุ่ม เมื่อกลับบ้านเด็กส่วนใหญ่ก็จะเพลียจากการทำกิจกรรม และนอนแต่หัวค่ำ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการดูฟุตบอลในช่วงดึกของนักเรียนได้ ด้านนักเรียน นายอุเทน ยาทอง หรือ “เทน” นักเรียนชั้นม.๖ ประธานชุมนุม Moderate Youth Club หรือ MoYo Club โรงเรียนโยธินบูรณะ อีกหนึ่งโรงเรียนเครือข่ายในโครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า ตามปกติตนเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูบอลมาก และดูแทบทุกรายการแข่งขัน โดยเฉพาะช่วงใกล้ปิดฤดูกาลซึ่งส่วนใหญ่มีการถ่ายทอดสดในช่วงเวลา ๒๒.๐๐ น. — ๐๑.๐๐ น. แต่ “เทน” กลับไม่หลงเข้าไปติดบ่วงตาข่ายด้านลบของกีฬาฟุตบอล “เทน” ระบุว่า ที่เขาอดใจไม่ดูการแข่งขันทุกรายการได้ เพราะเขาได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยเฉพาะเรื่อง “ความมีเหตุผล” และเมื่อคนเรามีเหตุผล “ความพอประมาณ” ก็เกิดขึ้นตามมา แล้ว “ภูมิคุ้มกัน” ก็จะเกิดขึ้นกับทั้งการเรียนและการดำเนินชีวิต จะไม่เกิดเหตุการณ์ไม่มีการบ้านส่งครู หรือพักผ่อนไม่เพียงพอจนเสียการเรียน “คือผมจะคิดก่อนว่าสิ่งที่ผมทำมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ถ้ามีข้อเสียมากกว่าแสดงว่าเราไม่พอประมาณ ไม่อยู่ในทางสายกลาง แล้วถ้าผมคิดจะดูบอลวันนี้ ผมต้องคิดล่วงหน้าด้วยว่า พรุ่งนี้มีงานอะไรที่ผมต้องทำหรือเปล่ามันจะส่งผลกระทบหรือเปล่า ถ้ามีก็ต้องตัดใจไม่ดูบอล เพราะผมเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนนั่นคือการเรียน ส่วนบอลเดี๋ยวค่อยไปดูย้อนหลังก็ได้ สำหรับฤดูกาลแข่งขันบอลโลกปีนี้ผมวางแผนไว้ว่าจะดูเฉพาะวันที่มีทีมฝรั่งเศสลงแข่งขันเท่านั้น เพราะผมเชียร์ทีมนี้อยู่ และหากดูบอลดึกๆ และรู้สึกเพลียบ้าง ผมจะใช้เวลาช่วงพักกลางวันพักสมอง ซึ่งจะทำให้ไม่เคยหลับในห้องเรียน” “เทน” กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในเงื่อนไขของ “ความรู้” และ “คุณธรรม” นั้น “การดูบอลทำให้ผมได้รับความรู้ที่ไม่มีอยู่ในตำราเรียน เช่น เรื่องการตัดสินของกรรมการในสนาม ที่บางครั้งเราเห็นว่าไม่ตรงกับกฎกติกาที่วางไว้ ทำให้ผมเรียนรู้ว่าการเล่นจริงๆ ในสนามกับกติกาที่ตั้งไว้อาจจะไม่ได้สอดคล้องกันไปเสียทั้งหมด เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องกำกับด้วย หลักคุณธรรม นั่นคือ ต้องมีระเบียบวินัย ต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง หากเราดูบอลจนปล่อยปละละเลยหน้าที่ที่สำคัญ ก็จะติดเป็นนิสัย และจะทำให้แผนในชีวิตเสียหมด” ประธานชุมนุม MoYo Club กล่าวในตอนท้ายว่า ช่วงนี้จะเห็นว่ามีหลายหน่วยงานพยายามรณรงค์และคุมเข้มเรื่องการพนันบอล ในฐานะประธานชุมนุมฯ ก็มีแนวคิดที่จะรณรงค์ให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนแบ่งเวลาในการดูบอลให้เหมาะสมด้วย โดยฝากบอกเพื่อนๆ นักเรียน นักศึกษาด้วยว่า “การดูบอลเป็นสิ่งดี อย่างน้อยทำให้เรามีความสุขกับสิ่งที่เราชอบ แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความพอดี อะไรที่เกินไปก็ไม่ดี ต้องเดินทางสายกลาง ที่สำคัญ บอลดูได้ แต่อย่าไปเล่นการพนัน” ทีมงานสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล กันตินันท์ เศลารักษ์ (น้ำ) โทร.02-270-1350 มูลนิธิสยามกัมมาจล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ