กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานีร่วมกับท่าอากาศยานอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบกรณีอากาศยานประสบอุบัติเหตุ (Ubon-EMEX 2010) ประจำปี พ.ศ. 2553 เพื่อเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานการปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติภัยจากการจราจรทางอากาศได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
นายบพิตร พันธุ์พินิจ (รกท.)หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า ปัจจุบันการโดยสารและการขนส่งทางอากาศได้รับความนิยมมากขึ้น ส่งผลให้สถิติการเกิดอุบัติภัยจากการจราจรทางอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในท่าอากาศยานกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้ร่วมกับ ท่าอากาศยานอุบลราชธานีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินโครงการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ กรณีอากาศยานประสบอุบัติเหตุ (Ubon-EMEX 2010) ประจำปี พ.ศ. 2553 โดยฝึกซ้อมแผนฯรูปแบบในที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) ในวันอังคารที่ 15 มิถุนายน 2553 ณ ห้องประชุมอากาศยาน ท่าอากาศยานอุบลราชธานีเพื่อประชุมแบ่งมอบภารกิจ จัดเตรียมกำลังคน เครื่องมือ อุปกรณ์ และซักซ้อมทำความเข้าใจขั้นตอนการปฏิบัติการตาม
แผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบกรณีอากาศยานประสบอุบัติเหตุ ฝึกซ้อมแผนบนโต๊ะจำลองสถานการณ์(Table Top Exercise) โดยเน้นการสั่งการ การบังคับบัญชาและการโต้ตอบสถานการณ์ภัยพิบัติ รวมถึงการฝึกซ้อมแผนแบบปฏิบัติการจริง (Field Training Exercise : FTX) ในวันพุธที่ 16 มิถุนายน 2553 เวลา 08.00น.เป็นต้นไป ณ ลานท่าอากาศยานอุบลราชธานี
ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ทั้งนี้ การฝึกซ้อมแผนฯดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติภัยในท่าอากาศยาน รวมถึงเตรียมความพร้อมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประสานการปฏิบัติและมีทักษะป้องกันและแก้ไขปัญหาในภาวะฉุกเฉินกรณีเกิดอุบัติภัยจากการจราจรทางอากาศ
ได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ ภายหลังการฝึกซ้อมแผนฯจะมีการประเมินผล เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่อง และนำไปแก้ไขปรับปรุงให้การดำเนินงานป้องกันอุบัติภัยจากการจราจรทางอากาศมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในระบบมาตรฐานความปลอดภัยของภาครัฐให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2243-2200 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมปภ.