กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ก.พลังงาน
กระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายปี 2554 ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 3,246 เมกะวัตต์ เชื่อมั่นเป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับประเทศ การพึ่งพาตนเอง และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ชุมชน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดโครงการโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงว่า นโยบายกระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันทั่วประเทศมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 2,061 เมกะวัตต์ ภายในปี 2554 กำหนดเป้าหมายส่งเสริมให้เป็น 3,246 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย พลังงานชีวมวล 2,800 เมกะวัตต์ พลังงานขยะ 100 เมกะวัตต์ พลังงานก๊าซชีวภาพ 30 เมกะวัตต์ พลังน้ำ 156 เมกะวัตต์ พลังงานลม 115 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์ 45 เมกะวัตต์
แนวทางของการส่งเสริม แบ่งเป็น ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน รัฐตั้งเป้าหมายสนับสนุนการขายไฟฟ้าเข้าระบบจำนวน 350 เมกะวัตต์ โดยเปิดประมูล (Adder Bidding) ราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าที่ยื่นขอรับส่วนเพิ่ม (Adder) ราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราต่ำสุดก่อน หากเป็นขยะกำหนดให้อัตราสูงสุดไม่เกิน 2.50 บาทต่อหน่วย และเชื้อเพลิงประเภทอื่น เช่น แกลบ เศษไม้ จะให้ส่วนเพิ่มไม่เกิน 30 สตางค์ต่อหน่วย
และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) ประกาศรับซื้อไฟฟ้าโดยให้ส่วนเพิ่ม (Adder) ราคารับซื้อไฟฟ้าพิเศษเพื่อจูงใจให้มีการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลากหลายมากขึ้น หากเป็นพลังงานชีวมวลจะได้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า 30 สตางค์ต่อหน่วย พลังงานชีวภาพ 30 สตางค์ต่อหน่วย พลังน้ำขนาดเล็กต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ ได้รับส่วนเพิ่มจำนวน 80 สตางค์ต่อหน่วย พลังน้ำขนาดเล็กตั้งแต่ 50-200 กิโลวัตต์ ได้รับส่วนเพิ่มฯ จำนวน 40 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนี้ถ้าเป็นขยะจะได้รับส่วนเพิ่มฯ จำนวน 2.50 บาทต่อหน่วย พลังงานลม ได้รับส่วนเพิ่มฯ 2.50 บาทต่อหน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงที่สุดได้รับส่วนเพิ่มฯ 8 บาทต่อหน่วย
ด้านการเยี่ยมชมโรงไฟฟ้ามุ่งเจริญกรีนเพาเวอร์ จังหวัดสุรินทร์ กำลังผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ พบว่ามีปริมาณการขายไฟฟ้าเข้าระบบให้แก่ กฟผ. จำนวน 8 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่สำคัญผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้แก่ประชาชนในจังหวัดสุรินทร์ โดยเฉพาะการนำแกลบเหลือใช้ที่มีอยู่ในจังหวัดเป็นจำนวนมากมาผลิตไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ปีละประมาณ 100,000 ตัน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแกลบเหลือใช้ทั้งหมดในจังหวัดสุรินทร์
โรงไฟฟ้าแห่งนี้นับว่าเป็นโรงไฟฟ้าตัวอย่างและการอยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี เพราะมีระบบป้องกันมลพิษทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ระบบดักจับฝุ่นแบบลมหมุนวน และระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ ซึ่งสามารถกำจัดฝุ่นได้ถึง 99% และมีฝุ่นละอองที่ปล่อยจากปล่องควันน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ที่ต้องไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
“กระทรวงพลังงาน ให้การส่งเสริมและสนับสนุนต่อการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเนื่องจากเป็นการส่งเสริมนโยบายพึ่งพาตนเอง หลายพื้นที่ของประเทศมีศักยภาพจำนวนมาก และเป็นการสร้างศักยภาพของแหล่งพลังงานที่มีอยู่ในชุมชนให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน พัฒนาความเป็นอยู่ และอาชีพให้แก่คนในชุมชนมากยิ่งขึ้น” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว