ดร. สุพจน์ สีบุตร ผชช. โครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ผู้สอนวิทยาศาสตร์ สสวท. “แนะครูใช้สื่อใกล้ตัว เกิดผลดีกว่าสื่อแปลกปลอม”

ข่าวทั่วไป Monday June 14, 2010 11:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--สสวท. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายการเรียนรู้ผู้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 1-3 ใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม กรุงเทพมหานคร ระยอง ภูเก็ต ขอนแก่นและอุบลราชธานี โดยดำเนินงานสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งตอนนั้น สสวท. และสถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมกันจัดทำหลักสูตรกลางในการอบรมครู ให้ได้มาตรฐานเดียวกันเป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่อง โดยเน้นทั้งเนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคิด วิเคราะห์ กระบวนการสืบเสาะความรู้ และการแก้ปัญหา เพื่อให้ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการดังกล่าวได้รวบรวมนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ และครู ที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ในการสอนเป็นอย่างดี ทำหน้าที่เป็นครูพี่เลี้ยงวิชาการ คอยให้คำแนะนำ ติดตามช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับครูที่ผ่านการอบรมอย่างต่อเนื่องในรูปของเครือข่ายการเรียนรู้ ดร. สุพจน์ สีบุตร อาจารย์จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญของโครงการ ฯ กล่าวถึง จุดเด่นของโครงการนี้ว่า การดำเนินงานโครงการนี้ ดีในแง่ของการสร้างเครือข่าย เราสร้างครูกลุ่มหนึ่งขึ้นมา เพื่อให้ครูกลุ่มนั้น สร้างเครือข่ายเพิ่มขึ้น เป็นหลักการที่ดี เพราะครูจะมีที่ปรึกษา มีเครือข่ายการเรียนการสอนที่เข้มแข็งขึ้น ครูจะได้รู้สึกว่า เขาไม่ได้ทำการสอนเพียงลำพังคนเดียว แต่เขามีเพื่อน มีที่ปรึกษาเดียวกัน อยู่ร่วมกันเป็นเครือข่าย การทำงานในลักษณะที่ชัดเจน จริงจัง และต่อเนื่องก็น่าจะทำให้โครงการสัมฤทธิ์ผลได้ ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ดร. สุพจน์ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่อาจารย์ที่เป็นครูพี่เลี้ยงทางวิชาการ ซึ่งครูพี่เลี้ยงเหล่านี้มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว แต่เราจะคอยกระตุ้น ให้กำลังใจ ไปเยี่ยมโรงเรียน และช่วยเสริมทางวิชาการด้านต่าง ๆ “ครูควรจะมองว่าภายใต้ทรัพยากรในโรงเรียนที่มีอยู่อย่างจำกัด จะนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง อย่าเอาไปเปรียบเทียบกับโรงเรียนใหญ่ ๆ ที่พร้อมกว่า เช่น ครูมักจะพูดว่า เด็กเบื่อเนื้อหาคณิตศาสตร์ ไม่รู้จะจัดกิจกรรมอย่างไรดี ทั้งที่เขาเองก็ทำกิจกรรมเหล่านี้อยู่บ้าง เช่น ให้เด็กไปซื้อของ แล้วสอดแทรกเนื้อหาคณิตศาสตร์เข้าไป เด็กกลับชอบ ซึ่งเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมที่ดีอยู่แล้ว” นอกจากนั้น ครูยังเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การสอนต้องแน้นให้นักเรียนทำเนื้อหาตามหนังสือให้ได้ ครูพี่เลี้ยงจึงควรจัดเนื้อหาให้เข้าสู่ชีวิตประจำวันของเด็ก เพื่อให้เด็กที่ไม่ชอบคณิตศาสตร์ ได้เรียนคณิตศาสตร์อย่างเป็นธรรมชาติตามความเข้าใจของเขา ในมุมมองของครูหลายคน มักเข้าใจว่า สื่อการสอนที่ดี ต้องเป็นสื่อการสอนที่ทันสมัย สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ที่นักเรียนของเขาน่าจะได้เรียนรู้เทียบเท่ากับโรงเรียนใหญ่ ๆ อื่น ๆ แต่ที่จริงแล้ว สื่อที่อยู่รอบตัวในโรงเรียนง่าย ๆ เป็นสื่อที่ดีที่สุด เพราะเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ใกล้ตัวเด็ก ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งแตกต่างจาก “สื่อแปลกปลอม” เช่น สื่อ IT ต่าง ๆ ที่ไม่ได้สอดคล้องเกี่ยวข้องกับชีวิตของเขาเลย “ไม่ใช่ว่าสื่อสมัยใหม่ไม่ดีไปทั้งหมด เพียงแต่ว่าคุณครู แทนที่จะมองสื่ออื่นๆ ไกลตัวก็หันมามอง สื่อรอบๆ ตัวที่เกี่ยวข้องกับบริบทจริงในโรงเรียนหรือชุมชนยิ่งจะเป็นสิ่งดีกว่า” สิ่งที่จำเป็นมากกว่าคือ การเชื่อมโยงเนื้อหาให้เข้ากับชีวิตประจำวัน และปรับใช้กับสิ่งรอบๆ ตัวเด็ก จะเกิดประโยชน์กับตัวนักเรียนมากกว่า และทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น ครูบางส่วน ยังมักจะตีความหลักสูตรผิด เช่น เรื่องของ “ความรู้สึกเชิงปริมาณ” “ความรู้สึกเชิงปริภูมิ” ซึ่งคุณครูมักจะคิดว่า ต้องไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนพิเศษเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยเฉพาะ แต่จริงๆ แล้ว ครูสามารถสอดแทรกเข้าไปในกิจกรรมอื่นๆ ให้เกิดขึ้นกับเด็ก ในขณะที่สอนเนื้อหาทุกเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง หรือ “ตัวแบบคณิตศาสตร์” ซึ่งแทรกอยู่แล้ว ในสมการและเนื้อหาอื่น ๆ ซึ่งต้องสอดแทรกคำพูดเหล่านี้เข้าไปบ่อยๆ ในขณะที่สอนคณิตศาสตร์ เพื่อให้เด็กเกิดความคุ้นเคย และเกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในที่สุด การดำเนินงานตามโครงการนี้ ครูพี่เลี้ยงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ 179 คน ใน 10 จังหวัดข้างต้นจะไปจัดอบรมเพื่อขยายผลให้แก่ครูในจังหวัดของตนอีก 787 คน โดยมีผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ประจำจังหวัด เป็นที่ปรึกษา พร้อมทั้งมีการติดตามประเมินผล และเดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนในเครือข่าย “ทุกโรงเรียน” เพื่อให้กำลังใจ และคำแนะนำ เพื่อที่จะจับมือพัฒนาการเรียน การสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในโรงเรียนไปพร้อมกัน และหลังจากการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้สิ้นสุดลง สสวท. จะวิเคราะห์และประเมินผลโครงการ ซึ่งหากการดำเนินงานสัมฤทธิ์ผลตามที่ตั้งใจไว้ ก็จะได้มีการขยายพื้นที่ดำเนินงานสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไป ส่วนประชาสัมพันธ์ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สินีนาฎ ทาบึงกาฬ /รายงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ