กรุงเทพฯ--14 มิ.ย.--ปชส.พิธีสมโภชวัดมกุฏกษัตริยาราม
เมื่อเอ่ยถึง วัดมกุฏกษัตริยาราม ทุกคนคงรู้จักหรือคุ้นเคยชื่อเสียงกันเป็นอย่างดี แต่หากจะสอบถามถึงความ สำคัญ หรือประวัติความเป็นมาแล้ว หลายคนอาจจะไม่แน่ใจในสิ่งที่ตนเองได้ทราบกันมา วันนี้จะขอเล่าให้ทราบถึงวัดมกุฏกษัตริยาราม ในมุมมองแบบละเอียดลึกซึ้ง เพราะอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมีพิธีสมโภชวัดมกุฏกษัตริยาราม งานบุญครั้งสำคัญระดับประเทศ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2553 ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม เขตพระนคร ภายในงานมีกิจกรรมบันเทิงสอดแทรกความรู้หลายอย่าง ถ้าใครว่างก็ขอเชิญมาเที่ยวชมกัน
วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมถนนและคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้ถนนราชดำเนินนอก แขวงพระนคร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระผนวชอยู่เป็นเวลานานถึง 27 พรรษา ทรงศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน และพระราชทานกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย หลังเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดให้สถาปนาวัดมกุฏกษัตริยารามขึ้น ณ ริมคลองผดุงกรุงเกษม เพื่อเคียงคู่กับวัดโสมนัสวิหารที่ทรงสร้างเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี พระอัครมเหสีซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้านั้น โดยทรงถือตามราชประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีการสร้างวัดของพระมหากษัตริย์คู่กับวัดของพระมเหสีเรียงรายตามคูพระนคร ทรงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อ พ.ศ. 2410 และทรงประกอบพิธีเปิดวัดเมื่อ พ.ศ. 2411 และเสด็จสวรรคตขณะที่สิ่งก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ การก่อสร้างจึงดำเนินมาจนถึงต้นรัชกาลพระบาท สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงแล้วเสร็จ
เนื่องในโอกาสมหามงคลที่วันพระบรมราชสมภพครบ 200 ปี ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และถวายเป็นพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ทางวัดมกุฏกษัตริยาราม จึงได้จัดทำ โครงการบูรณะพุทธสถานเพื่อกลับสู่ความดั้งเดิมพุทธสถาปัตยกรรม สมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งการก่อสร้างวัดมกุฎกษัตริยารามนั้น ได้ยึดถือรูปแบบผัง และสถาปัตยกรรมของวัดในคณะธรรมยุติกนิกาย ซึ่งในประเทศไทยมีเพียง 4 วัด คือ วัดบรมนิวาส, วัดปทุมวนาราม, วัดโสมนัสวิหาร และวัดมกุฏกษัตริยาราม การบูรณะปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้จึงได้ยึดถือรูปแบบที่ถูกต้องและงดงาม เช่นเดียวกับเมื่อแรกสร้างวัดไว้ทุกประการ
สำหรับลักษณะที่โดดเด่นของสถาปัตยกรรมวัดในคณะธรรมยุติกนิกาย ประกอบด้วย
1. เสมา ๒ ชั้น ชั้นแรกเรียกว่า “มหาสีมา” อยู่ในซุ้มที่มุมกำแพงรอบวัด และยังมีเสมารอบพระอุโบสถ เรียกว่า “ขัณฑสีมา”
2. พระวิหาร อาคารทรงไทยมีพาไลและเสากลมรองรับพาไลตลอดแนว หน้าบันประดับรูปพระมหามงกุฎล้อมรอบด้วยลายดอกไม้ที่ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่จากการถอดแบบลายจากหลักฐานภาพถ่ายเก่าในสมัยรัชกาลที่ ๕
3. เจดีย์แบบลังกา ทรงกลมสูงแบบระฆังคว่ำยอดสวมด้วยมงกุฎทรงสำริด สีขาว ปฏิสังขรณ์ด้วยเทคนิคของช่างโบราณคือ สกัดปูนเดิมออก ฉาบปูนหมัก ขัดปูนตำ ฉาบน้ำปูนทาทับ
4. พระระเบียง ประดิษฐานพระพุทธรูปเรียงรายตลอดแนว ฐานพระพุทธรูปเป็นที่บรรจุพระอัฐิราชสกุลในสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
5. พระอุโบสถ อาคารทรงไทย มีพาไลโดยรอบ ลวดลายหน้าบันและซุ้มประตูประดับรูปพระมหามงกุฎลักษณะเดียวกับพระวิหาร ไม่มีเสมา แต่ฝังรูปนิมิตตามแนวเสาพาไล
6. จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ภาพประวัติพระอัครสาวก 11 พระองค์ พระอัครสาวิกา 9 องค์ และภาพแสดงธุดงควัตร และข้อที่พึงปฏิบัติเนื่องด้วยพระธรรมวินัย
โดยปัจจุบันการบูรณปฏิสังขรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว วัดมกุฏกษัตริยารามจึงได้จัดให้มีพิธีสมโภชอย่างยิ่งใหญ่ จึงขอเชิญทุกท่านมาร่วมกิจกรรมที่สุดแห่งมงคลชีวิต และงานมหรสพสมโภช ดังนี้ วันที่ 19 มิถุนายน 2553 เวลา 16.30 น. ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์มหาสันติงหลวง พิธีอันศักดิ์สิทธิ์และมีอานุภาพสูงสุดในการสงบระงับภัยพิบัติและเหตุร้าย เป็นมงคลแก่บ้านเมือง เป็นมงคลกับพระราชา และตัวผู้สวดมนต์ วันที่ 20 มิถุนายน 2553 เวลา 15.00 น. ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และพิธีถวายพระบรมรูป ร.4 แก่วัดธรรมยุติทั่วประเทศ และสำคัญที่สุดคือในวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เวลา 15.00 น. ขอเชิญเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีสมโภชวัดมกุฎกษัตริยาราม โดยระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2553 ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ผู้มาเข้าร่วมงานจะได้เพลิดเพลินกับกิจกรรมออกร้าน และมหรสพสมโภช อาทิ การแสดงโบราณอันน่าประทับใจ ระเบง โมงครุ่ม, ตระการตากับการแสดงของคณะลิเกไชยา มิตรชัย, สนุกสนานกับลีลาเพลงฉ่อยมืออาชีพโย่ง เชิญยิ้ม, การออกร้านจากหน่วยงานราชการ เอกชน และร้านค้าคุณภาพมากมาย ฯลฯ มาร่วมชื่นชมสถาปัตยกรรม และนิทรรศการอันทรงคุณค่า ในการบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งแรก ที่ได้ย้อนความงดงามเมื่อ 200 ปีกลับมาให้ได้ชื่นชมอีกครั้ง ผู้สนใจโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-9137555 ต่อ 3120, 3121 ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
วันทนีย์
poo wantanee [iampoo_21@hotmail.com]