กรมบัญชีกลางแถลงข่าว แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอีเลกทรอนิกส์ (e-Auction)

ข่าวทั่วไป Tuesday June 15, 2010 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กรมบัญชีกลาง กรมบัญชีกลางจัดแถลงข่าวเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบ อีเลกทรอนิกส์ (e-Auction) นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยหลังจากการประชุมพิจารณาของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ในวันนี้ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้พิจาณาประเด็นปัญหาต่าง ๆ และข้อเสนอต่าง ๆ ที่ กรมบัญชีกลางเสนอ ได้มีมติเห็นชอบและมอบหมายให้มาดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องนี้ได้รับมอบนโยบายตรงจาก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายมั่น พัธโนทัย) ให้เร่งดำเนินโดยด่วน ซึ่งกรมฯได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอีเลกทรอนิกส์(e-Auction) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบฯ ในช่วงระหว่างการแก้ไขระเบียบฯ และช่วงระหว่างการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง ภาครัฐโดยการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP) อย่างเต็มรูปแบบ โดยเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาระบบดังกล่าว คือ การแก้ไขปัญหาในระยะสั้น ๑.ให้หน่วยงานสามารถเลือกดำเนินการตามประเภทสินค้าและบริการ รวมถึงวิธีการดำเนินการแทนการกำหนดวงเงินเริ่มต้นแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งจะแบ่งเป็นประเภทสินค้าและบริการทั่วไปที่สามารถดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ หากมีวงเงินเริ่มต้นในการจัดหาตั้งแต่ ๒ ล้านบาทขึ้นไป ให้ไปดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กนิกส์ แต่หากเป็นประเภทสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะให้ดูที่ตัวสินค้าและบริการเป็นหลัก ซึ่งหากเข้าเงื่อนไขดังกล่าวหน่วยงานไม่ต้องไปดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกรมฯ จะดำเนินการแจ้งเวียนให้หน่วยงานภายใต้บังคับระเบียบฯ ถือปฏิบัติว่าในการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละครั้งจะดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือสามารถเลือกใช้วิธีการตามระเบียบฯ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม หรือตามระเบียบ ข้อบังคับของหน่วยงานได้ ซึ่งกรมฯ จะนำเสนอ กวพ.อ. เพื่อกำหนดแนวทางและเลือกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ในการดำเนินการของหน่วยงาน ตามที่กรมฯ จะกำหนด ใน ๖ ประเด็น คือ - พิจารณาว่าสินค้าและบริการดังกล่าวจำเป็นต้องระบุยี่ห้อ หรือมีจำนวนยี่ห้อเดียวหรือไม่ - พิจารณาจากความเร่งด่วนในการจัดหาในครั้งนั้น - พิจารณาว่าพัสดุที่จัดหามีการแข่งขันหรือไม่ โดยพิจารณาจากจำนวนผู้ขาย ผู้ให้บริการ หรือผู้รับจ้าง - พิจารณาจากความซับซ้อนหรือเทคนิคเฉพาะของสินค้าและบริการหรือจากงาน/โครงการ ที่จะจัดหา - สินค้าและบริการประเภท ระบบ IT หน่วยงานต้องพิจารณาว่าระบบ IT ที่จะจัดหาในครั้งนั้นเป็นประเภททั่วไป หรือประเภทที่มีลักษณะเฉพาะ - พิจารณาว่าพัสดุที่จัดหามีราคาผันผวนสูงหรือไม่ ๒.จะนำเสนอ กวพ.อ. ให้ลดอัตราการยึดหลักประกันซองจากร้อยละ ๕ ของวงเงินที่จัดหา เป็นร้อยละ ๒.๕ ของวงเงินที่จัดหา ๓. กรมฯ จะดำเนินการแจ้งเวียนซ้อมความเข้าใจในเรื่องของการกำหนดราคาเริ่มต้นในการจัดหาตามแนวทางปฏิบัติตามระเบียบฯ การแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement: e-GP) อย่างเต็มรูปแบบ แบ่งเป็น ๒ ระยะ ระยะที่ ๑ การยื่นซองข้อเสนอด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e — Bidding) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการซื้อเอกสารประกวดราคาและการยื่นซองข้อเสนอ ทั้งข้อเสนอด้านเทคนิคและข้อเสนอด้านราคาผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบฯ ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ — มิถุนายน ๒๕๕๔ โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๙ ให้สอดคล้องกับระบบ e — Bidding และทดลองการใช้งาน รวมทั้งจัดฝึกอบรมและนำระบบมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานจริงกับหน่วยงานนำร่องได้ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ซึ่งในระยะนี้จะใช้ระบบ e — Bidding ควบคู่ไปกับระบบ e-Auction โดยจะมีการพิจารณากำหนดประเภทสินค้าและบริการที่ชัดเจนว่าสินค้าและบริการประเภทใดควรใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบใด ระยะที่ ๒ การเลือกซื้อสินค้าและบริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Market) การพัฒนาระบบ e-Market เป็นระบบที่พัฒนาใหม่สำหรับการจัดซื้อสินค้าที่มีคุณสมบัติชัดเจน ไม่ซับซ้อน มีความเป็นมาตรฐานสากล เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น ซึ่งไม่จำเป็นต้องพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค คาดว่าจะเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบฯ ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๕๓ — ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาระบบ ทดสอบระบบ ควบคู่ไปกับการดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. ๒๕๓๕ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และทดลองการใช้งาน รวมทั้งจัดฝึกอบรม โดยคาดว่าจะสามารถใช้งานจริงกับหน่วยงานนำร่องได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ โดยจะนำระบบ e-Market มาใช้งานควบคู่กับระบบ e-Bidding โดยระบบ e-Auction จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบ e-Market และจะมีการพิจารณากำหนดประเภทสินค้าและบริการที่ชัดเจนว่าสินค้าและบริการประเภทใดควรใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบใด นายพงษ์ภาณุ กล่าวต่อท้ายว่า นอกจากนี้จะมีการปรับปรุงระเบียบเพื่อรองรับการพัฒนาระบบ e-GP ในประเด็นต่าง ๆ คือ ๑. นำสาระสำคัญ ๖ ประเด็นตามมติ ครม. เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ (หนังสือด่วนที่สุดที่ นร ๐๕๐๖/ว.๑๘๒ ลว.๑๒ ต.ค. ๒๕๕๒) เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติตามระเบียบฯ มากำหนดไว้ในระเบียบฯ ๒. กำหนดให้วงเงินเริ่มต้นในการจัดหาไม่เกิน 10 ล้านบาทหน่วยงานสามารถกำหนดให้มีการเสนอราคาที่ไหนก็ได้ ๓. ตัดข้อกำหนดในเรื่องของการอุทธรณ์ตามระเบียบฯนี้ออก โดยหากผู้เสนอราคาไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาให้ไปดำเนินการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ๔. แก้ไขระเบียบฯ ให้รองรับกับระบบ e-Bidding

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ