กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สกว.
แทบจะทุกครั้งที่เกิดกรณีพิพาท หรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กน้อยแค่หัวร้างค่างแตกหรือลุกลามเลยเถิดไปถึงขั้นคอขาดบาดตาย “ตำรวจ” มักจะเข้ามามีบทบาทในการคลี่คลายและยุติปัญหา...
แต่ที่บ้าน “นาดินดำ” อำเภอเมือง จังหวัดเลย “ตำรวจ” หรือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองคือคนกลุ่มท้าย ๆ ที่พวกเขาจะนึกถึงเมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทขึ้นในชุมชน…
“ถ้าทะเลาะกันเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ถึงขั้นคอขาดบาดตาย เราจะพยามไม่ให้เรื่องเดือดร้อนไปถึงตำรวจ โดยเฉพาะกรณีกลุ่มวัยรุ่นตีกัน....ซึงบางที่เป็นการทะเลาะกันตามประสาเด็กวัยรุ่น หากเราแจ้งความเอาตำรวจมาจับเพราะความรำคาญที่เห็นเด็ก ๆ ในหมู่บ้านมาก่อความเดือดร้อน อาจทำให้เยาวชนเหล่านั้นเสียอนาคต...เพราะเมื่อแจงตำรวจ มีการจับกุม มีการลงบันทึกประจำวัน ทำให้เด็กเสียประวัติ...บางคนเสียอนาคตไปเลยก็มี” สำรวย ทองจันทร์ 1 ในสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนาดินดำ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดระบบยุติธรรมชุมชน ระหว่างเข้าร่วมในเวทีพัฒนาโครงการวิจัย ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของการพัฒนา “โจทย์วิจัย” ระหว่างทีมวิจัย - แกนนำชาวบ้าน และทีมเจ้าหน้าที่โครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค
กล่าวสำหรับตำบล “นาดินดำ” เป็นชุมชนขนาดใหญ่ แบ่งการปกครองออกเป็น 14 หมู่บ้าน มีประชากรราว 12,000 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร แต่ก็เป็นการเกษตรที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝนเป็นหลัก เพราะระบบชลประทานไม่ดี และเมื่อเสร็จสิ้นจากการทำไร่ทำนา ชาวบ้านบางส่วนออกไปรับจ้างนอกเมือง บ้างไปไกลถึงกรุงเทพ และก็มีจำนวนหนึ่งที่เดินทางไปต่างประเทศ...เพราะรายได้ที่เฉลี่ยออกมาแล้วไม่เกิน 50,000 บาทต่อครัวเรือนนั้น ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
การเดินทางออกไปทำงานต่างถิ่นของผู้ปกครอง ส่งผลต่อกลุ่มเด็ก และเยาวชนในหมู่บ้าน เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้จะถูกปล่อยให้อยู่กับคนแก่ซึ่งมักเลี้ยงลูกหลานแบบตามใจ...เมื่อเด็ก ๆ ไม่มีพ่อหรือแม่คอยอบรมสั่งสอน ประกอบกับตำบลนาดินดำอยู่ใกล้ตัวอำเภอเมืองซึ่งสิ่งเร้าใจสามารถไหลเข้าชุมชนได้ง่าย เด็กที่ไร้ภูมิต้านทานทางสังคมที่ดีพอก็ไหลไปกับกระแสสังคมข้างนอกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
หลายครั้งที่เด็กวัยรุ่นบ้านนาดินดำออกไปรวมกลุ่มกันนอกชุมชน...และการรวมตัวมักมีเหล้า หรือยาเป็นองค์ประกอบ ท้ายที่สุดก็ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกับเด็กวัยรุ่นต่างหมู่บ้าน....นำไปสู่ความขัดแย้ง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนทั้งต่อตนเองและคนอื่น ๆ
แต่เดิมไม่มีระบบป้องกันดูแล เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาท เด็กมักถูกจับดำเนินคดี และแม้จะเป็นเพียงคดี ๆ เล็ก ๆ น้อย...แต่เรื่องไร้สาระเหล่านั้นก็ทำให้เด็กบางคนหมดอนาคตได้เช่นเดียวกัน...
ในฐานะผู้ใหญ่ ปัญหาเหล่านี่ใช่ว่าจะปล่อยปละละเลย แกนนำอย่าง สำรวย ทองจันทร์ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลนาดินดำ , ชุติพลคณิน กันแหง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 , สุกัน บุญเกิด ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 และ เวก จันทนะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 4 จึงมาหารือกันเพื่อหาแนวทางแก้ไข และหาทางจัดการกับเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน
“เด็กเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน มันก็ลูกหลานเรา แต่หลัง ๆ มันตีกันบ่อย บางครั้งตีกันในงานบุญ ทำให้ต้องเลิกจัดงานกันไปเลยก็มี และเพราะไม่อยากให้เรื่องราวมันลุกลามใหญ่โตนี่แหละ พวกเราจึงต้องมาหารือกัน” ชุติพลคณิน กันแหง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 เล่าถึงที่มาของแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน
“สาเหตุของการทะเลาะวิวาทมักมาจากเหล้า และยา หากเราไม่มีมาตรการอะไรซักอย่างเข้ามาจัดการ ปัญหาอาจรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้” สำรวย ทองจันทร์ ส.อบต.นาดินดำกล่าวเสริม
เมื่อแกนนำทั้ง 4 ประชุมกันจนกระทั่งได้ข้อสรุป....และเริ่มบังคับใช้มาตรการนั้น...แรก ๆ ก็ได้รับการต่อต้านจากคนในชุมชนพอสมควร โดยเฉพาะกรณีเด็กวัยรุ่นตีกันในงานบุญ...หากผลการพิจารณาชี้ชัดออกมาว่าใครผิด....ก็จะให้คนผิดเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด....
“ชาวบ้านไม่ยอมรับ...เพราะบางงานค่าใช้จ่ายเป็นแสน...ใครจะมารับผิดชอบไหว....พวกเราก็มาหารือกันต่อ....ก็คุยกันหลายรอบ กว่าจะได้ข้อยุติและชาวบ้านยอมรับได้....อย่างกรณีตีกันในงานเลี้ยง เราก็ระบุไปในข้อบังคับว่า ปรับไม่เกิน 2,000 บาท คำว่าไม่เกิน 2,000 อาจะปรับแค่ 200 หรือ 500 บาท ขึ้นอยู่กับว่า เหตุการณ์มันรุนแรงหรือไม่ ” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 อธิบาย
สำหรับรูปแบบ หรือ “ระบบไกล่เกลี่ย” ของชุมชนบ้านนาดินนำนั้น แกนนำชุมชนต่าง “ลองผิดลองถูก” กันมานาน สำรวย ทองจันทร์ สมาชิองค์การบริหารส่วนตำบลนาดินดำเล่าว่า ทุก ๆ ครั้งที่เกิดเหตุ ตนจะเดินทางไปช่วยเจรจา และไกล่เกลี่ย ส่วนคู่กรณีทั่งสองฝ่ายต่างก็พาผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในชุมชนมาเป็นสักขีพยาน
“เวลาไกล่เกลี่ยก็จะปล่อยให้ทั้งสองฝ่ายเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็มีหน้าที่ถาม ถามโดยไม่กดดัน ส่วนมากก็จะเล่าไม่ตรงกันเท่าไหร่... ก็ปล่อยให้คุย ปล่อยให้เล่า สุดท้ายฝ่ายที่เริ่มก็จะยอมรับไปเอง.....หรือแม้แต่กรณีไม่มีใครยอมรับผิด เราก็จะดูว่า ใครเป็นคนเจ็บ ก็จะคุยกับคู่กรณีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บฟังว่า ไหน ๆ เราก็ทำเค้าเจ็บ .... เราก็ญาติ ๆ กันทั้งนั้น...ช่วยค่ายาเล็ก ๆ น้อย ๆ นะ...ตรงนี้ก็จะทำให้การไกล่เกลี่ยเป็นไปได้ง่ายขึ้น ปัญหาก็จะยุติ”
ส.อบต.สำรวยยังบอกอีกว่า ทุกครั้งที่ออกไปช่วยเจรจา จะไม่มีการระบุว่าให้ใครเป็นฝ่ายผิด หรือ ฝ่ายถูก แต่จะพยายามอธิบายให้เข้าใจว่า เราต่างเป็น “ญาติ” กัน เป็นพี่น้องกัน เพียงแต่บางครั้งใจร้อนไปนิด....ซึ่งการพูดในลักษณะดังกล่าว ก็จะทำให้สถานการณ์คลีคลายลงไปได้ด้วยดี
แต่อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้ง ใช่จะมีเฉพาะแต่กลุ่มเด็กวัยรุ่นเท่านั้น เวก จันทนะ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 บอกว่าบางครั้งผู้ใหญ่ก็มีเรื่องบาดหมางเช่นเดียวกัน
“ส่วนมากเป็นเรื่องความขัดแย้งเกี่ยวกับการทำมาหากิน ...ทั้งเรื่องแย่งน้ำ การใช้เครื่องมือการทำมาหากินที่เอาเปรียบกัน เวลาเจรจาก็จะใช้รูปแบบเดียวกัน คือ ให้ทั้งสองฝ่ายเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากยอมรับผิดก็ปรับเป็นค่ายา หรือค่ารักษาพยาบาล หรือบางครั้งเจ็บจนทำงานไม่ได้ก็จะให้อีกฝ่ายที่ไม่เจ็บไปทำงานแทน” ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 10 กล่าว
ชุมชนนาดินดำใช้ระบบการไกล่เกลี่ยมาช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี ซึ่งก็ดูเหมือนว่า “บ้านนาดินดำ” มีระบบไกล่เกลี่ย หรือระบบ “ยุติธรรมชุมชน” ในการยุติปัญหาหรือความขัดแย้งในชุมชนที่ค่อนข้างได้ผล แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แกนนำชุมชนเห็นว่า บ้านเมืองพัฒนาขึ้น รูปแบบของความรุนแรงเริ่มเปลี่ยน....การใช้ระบบไกล่เกลี่ย และ “ปรับ” ด้วยเงินเพียงอย่างอาจไม่ได้ผลอกต่อไปในอนาคต...
“ยังมีอีกหลายเรื่องที่ชุมชนอยากเห็นรูปแบบของระบบยุติธรรมชุมชนเป็นรูปเป็นร่างมากกว่านี้ เช่น มีกฏ กติกาเป็นที่ยอมรับของชุมชน และเดียวนี้ปัญหามันไม่ได้มีเฉพาะแค่หมู่บ้านของพวกเราทั้ง 3 หมู่บ้านคือ หมู่ 3 — หมู่ 10 และ หมู่ 4 เท่านั้น บางครั้งเกิดเหตุทะเลาะกับหมู่บ้านอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่าย หากเป็นไปได้...ก็อยากจะให้ระบบแบบนี้มันขยายไปจนครบทั้ง 14 ตำบล เพราะเราเชื่อว่า รูปแบบที่ใช้อยู่มันก็ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อน ๆ หาก 14 หมู่บ้านมาร่วมกันปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นก็จะเบาบางลงไปได้” สำรวย ทองจันทร์ ส.อบต.นาดินดำกล่าวทิ้งท้าย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net