การขยายเวลานำส่งงบการเงิน รอบปีบัญชี 2552

ข่าวทั่วไป Tuesday June 15, 2010 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กรมพัฒนาธุรกิจการค้า บทนำ : ในการดำเนินธุรกิจตามปกติแล้วนิติบุคลมีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชี และนำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 5 เดือนหลังจากสิ้นปีปฏิทิน หรือ ภายในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี แต่ปีนี้จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองในเขตกรุงเทพมหานครส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทุกรูปแบบ ประกอบกับเป็นช่วงเวลาของการนำส่งงบการเงินประจำปี 2552 ซึ่งต้องยื่นงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 นี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะเจ้าภาพหลักมีนโยบายให้ความช่วยเหลือธุรกิจเหล่านี้อย่างไรบ้าง ประเด็นสัมภาษณ์ : ประเด็นคำถาม 1. กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีนโยบายอำนวยความสะดวกให้ธุรกิจในการนำส่งงบการเงินอย่างไร แนวคำตอบ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีนโยบายที่จะอำนวยความสะดวก และลดภาระเกี่ยวกับการส่งงบการเงินให้แก่นิติบุคคลที่มายื่นงบการเงิน โดยได้ออกประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการในการยื่นงบการเงิน พ.ศ. 2553 ดังนี้ 1. ลดภาระในเรื่องการจัดเตรียมเอกสารงบการเงิน 1.1 ลดจำนวนชุดของงบการเงินให้เหลือเพียงชุดเดียวเหมือนกันทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการนำส่ง ลดเวลาในการตรวจเอกสาร 1.2 ลดจำนวนเอกสารที่ต้องลงลายมือชื่อในงบการเงิน ซึ่งเดิมผู้มีอำนาจต้องลงลายมือชื่อในแบบ ส.บช.3 หน้างบดุล หน้างบกำไรขาดทุน ตามอำนาจที่ได้จดทะเบียนไว้ ส่วนเอกสารอื่นให้ผู้มีอำนาจ 1 คนลงลายมือชื่อทุกหน้า แต่ในปีนี้ได้ปรับลดภาระการลงลายมือชื่อในหน้าหมายเหตุประกอบงบการเงินลงโดยให้กรรมการผู้มีอำนาจ 1 คนลงลายมือชื่อเฉพาะหน้าสุดท้ายเท่านั้น 2. อำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่การนำส่งงบการเงิน 2.1 เปิดหน่วยบริการรับงบการเงินในส่วนกลางเพิ่มขึ้นที่สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจในเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง 5 พื้นที่ ได้แก่ - สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1 (ปิ่นเกล้า) - สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 2 (พหลโยธิน) - สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 3 (รัชดา) - สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 4 (สีลม) - สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 6 (ศรีนครินทร์) โดยนิติบุคคลสามารถนำส่งงบการเงินที่พื้นที่ใดก็ได้ 2.2 เปิดให้บริการรับงบการเงินได้ทั่วประเทศ ซึ่งเดิมนิติบุคคลต้องส่งงบการเงินตามจังหวัดที่เป็นที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่เท่านั้น ตามหลักเกณฑ์การส่งงบการเงินฉบับใหม่นิติบุคคลสามารถเลือกส่งงบการเงินที่จังหวัดใดก็ได้ตามความสะดวก ประเด็นคำถาม 2. จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ส่งผลกระทบต่อการนำส่งงบการเงินของภาคธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ามีมาตรการช่วยเหลือในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง แนวคำตอบ จากสถานการณ์การชุมนุมในกรุงเทพมหานคร กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พยายามหาทางช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจมาโดยตลอด เริ่มจากการออกประกาศขยายเวลาในการยื่นงบการเงินสำหรับผู้ปรำกอบการที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในท้องที่เขตสาทร บางรัก และเขตปทุมวัน ซึ่งจากเหตุการณ์ความไม่สงบจากการชุมนุมได้ขยายพื้นที่ออกไปทุกท้องที่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจึงได้ออกประกาศขยายระยะเวลายื่นงบการเงินสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด นิติบุคคลต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย และกิจการร่วมค้าที่มีสถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ในกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ประเด็นคำถาม 3. หลังจากขยายเวลาให้แล้ว หากธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลไม่นำส่งงบการเงินหรือนำส่งล่าช้า จะมีความผิดในเรื่องนี้อย่างไร แนวคำตอบ ความผิดจากการที่นิติบุคคลไม่ส่งงบการเงิน เป็นความผิดที่มีโทษปรับทั้งผู้ที่หน้าที่จัดทำบัญชีคือนิติบุคคลส่วนหนึ่ง และผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลอีกส่วนหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดฯ ดังต่อไปนี้ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดว่าผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีคือนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือตามกฎหมายต่างประเทศ และกิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรต้องยื่นงบการเงินต่อสำนักงานกลางบัญชี หรือสำนักงานประท้องที่ ภายในกำหนด 5 เดือน นับแต่วันปิดบัญชี กรณีบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ให้ยื่นงบการเงินภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่งบการเงินนั้นได้รับอนุมัติในที่ประชุมใหญ่ ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีไม่ส่งงบการเงินตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลอีกไม่เกิน 50,000 บาท พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 กำหนดว่ากรรมการของบริษัทจำกัดไม่ส่งสำเนางบดุลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000บาท และบริษัทจำกัดใดไม่เรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่ออนุมัติ งบดุล ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 กำหนดให้คณะกรรมการของบริษัทฯ ต้องจัดทำงบดุลและบัญชีกำไรขาดทุน ณ วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชี และจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปีภายใน 4 เดือนนับแต่วันสิ้นสุดของรอบปีบัญชีเพื่อพิจารณาอนุมัติงบการเงิน และกำหนดให้บริษัทฯ เป็นผู้จัดส่งรายงานประจำปี พร้อมกับสำเนางบการเงิน สำเนารายงานการประชุมผู้ถือหุ้นเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุมัติงบดุล การจัดสรรกำไร และการแบ่งเงินปันผล โดยให้ผู้อำนาจลงนามแทนบริษัทฯลงลายมือชื่อรับรองว่าถูกต้องไปยัง นายทะเบียน บริษัทมหาชนจำกัดใดไม่นำงบการเงินเสนอให้ที่ประชุมใหญ่อนุมัติภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายต้องระวางโทษปรับคณะกรรมการของบริษัทฯ ไม่เกิน 20,000 บาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม E-mail: t_suwisa@hotmail.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ