กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) สรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาทางเลือก เรื่องการจัดตั้งศูนย์การเรียนโดยสถานประกอบการ พร้อมยกตัวอย่าง ศูนย์การศึกษาปัญญาภิวัฒน์ ของบริษัทซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด(มหาชน) เป็นตัวอย่างที่ดีเรียนจบมีงานทำ เปรียบเหมือนตัดเสื้อแล้วพอดีตัว
รองศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาทางเลือก เมื่อเร็วๆนี้ว่า ได้มีการพิจารณาเรื่องการจัดตั้งศูนย์การเรียนโดยสถานประกอบการ ซึ่งอนุกรรมการหลายท่านกล่าวชื่นชมการดำเนินงานของศูนย์การเรียนของบริษัทซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด(มหาชน) “ศูนย์การศึกษาปัญญาภิวัฒน์” ปัจจุบันมี 20 ศูนย์ มีผู้เรียน 3,560 คน โดยนาย อมเรศ ศิลาอ่อน ระบุว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งถ้าต่อไปพ่อแม่ผู้ปกครองเห็นด้วยย่อมทำให้จำนวนผู้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นด้วยอีกทั้งยังเป็นช่วยทำให้นโยบายของรัฐที่ต้องการส่งเสริมให้เด็กมาเรียนอาชีวะเพิ่มขึ้น เพื่อให้สัดส่วนเด็กเรียนสายสามัญกับเรียนอาชีวะเท่าๆกัน ไม่ใช่มีเด็กมาเรียนอาชีวะแค่ 20 แต่ไปเรียนสายสามัญ 80 คน
รศ.ธงทอง กล่าวว่า ผู้แทนสำนักงานการอาชีวศึกษา(สอศ.) แสดงความชื่นชม ซี.พี.เช่นกัน เพราะเห็นว่าเป็นตัวอย่างที่ดี เป็นการเรียนที่จบแล้วมีงานทำ โดยทางซี.พี.สร้างคนตามรูปแบบที่ต้องการ เปรียบเหมือนตัดเสื้อแล้วพอดีตัว ในขณะที่การเรียนจบจากภาครัฐหรือเอกชนก็ดี เมื่อบริษัทรับไปก็ต้องไปเข้าอบรมและปรับแต่งอีกมาก
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผู้แทนของซี.พี.ระบุถึงปัญหาอุปสรรคของการจัดการเรียนการสอนในศูนย์การเรียนว่า การที่เปิดสอนหลักสูตรค้าปลีกในระดับปวช.แต่ให้ไปอยู่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ซึ่งยังขาดความเข้าใจเรื่องของสายอาชีพทำให้ไม่ได้รับการสนับสนุนในด้านวิชาการเพียงพอ ซี.พี.จึงต้องการไปอยู่ในสังกัดของสอศ. เกี่ยวกับประเด็นนี้ สอศ.ชี้แจงว่าการจัดตั้งศูนย์การเรียนของซี.พี ตั้งมาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว แต่ พรบ.การอาชีวศึกษา ที่เปิดโอกาสให้สถานประกอบการจัดอาชีวศึกษา เพิ่งมีเมื่อปี 2551 ดังนั้น ศูนย์การเรียนของซี.พี. จึงไม่ได้อยู่ในส่วนของ พรบ.การอาชีวศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ สอศ.กำลังจัดทำกฎกระทรวงเพื่อรองรับศูนย์การเรียนในสถานประกอบการต่อไป